แสงสุดท้ายอันงดงาม

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 18 ตุลาคม 2015

หากคุณกำลังมองหาเชื้อไฟเพื่อจุดประกายความฝันหรือสร้างแรงบันดาลใจ เรื่องเล่าล่าสุดเกี่ยวกับประสบการณ์เฉียดตายของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญาชื่อดังจะตอบโจทย์และชวนให้มองมุมใหม่ว่า แท้จริงแล้วพวกเราล้วนมีแสงภายในที่เจิดจ้าเพื่อส่องสว่างให้ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

ในปาฐกถาหัวข้อ “ความงดงามของแสงสุดท้ายแห่งชีวิต” เนื่องในงานวันแห่งการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ศิริราช (Siriraj Palliative Care Day) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 อาจารย์ประมวลเล่าประสบการณ์โดยแบ่งชีวิตเป็น 3 ช่วงตามลำดับขั้นการเรียนรู้เรื่องความตาย

เริ่มจากช่วงปฐมวัย ที่เกิดขึ้นในวัยหนุ่มเมื่อเขาเห็นเพื่อนถูกฆ่า ซึ่งน่ากลัวจนกินไม่ได้นอนหลับและไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะภาพเหล่านั้นมาหลอกหลอน เขากลัวความตาย เห็นความตายเป็นเรื่องโหดร้าย และหวั่นไหว จนใช้พลังชีวิตทั้งหมดที่มีวิ่งหนีความตายไปบวช  เขาเรียกช่วงนี้ว่าช่วงมรณภัย คือเห็นความตายเป็นภัยอันตราย

เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงกลางของชีวิตหรือมัชฉิมวัย เป็นวัยที่เขาหันมาเผชิญหน้ากับความตาย ด้วยการด้วยการพินิจพิเคราะห์และระลึกถึงความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว  แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงความนึกคิดที่เมื่อมาทบทวนแล้วก็ยังพบว่า ยังมีความกลัวตายซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งทำให้ไม่สามารถเบิกบานแจ่มใสได้  เขาเรียกช่วงนี้ว่ามรณานุสติ หรือการระลึกถึงความตาย ซึ่งเป็นการปรุงแต่งความคิดเกี่ยวกับความตาย และคิดว่าเป็นความตายของผู้อื่น ไม่ใช่ความตายของตัวเอง

จวบจนเมื่อล่วงเข้าสู่วัยห้าสิบ เมื่อใคร่ครวญและพบว่ายังไม่อาจละทิ้งความกลัวความตายได้ เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ออกเดินจากเชียงใหม่สู่เกาะสมุยจนกลายเป็นการเดินทางแห่งตำนานอันเป็นที่มาของหนังสือ “เดินสู่อิสรภาพ”

แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเดินครั้งนี้คือ การออกจากสิ่งปกป้องคุ้มภัยเพื่อไปเผชิญหน้ากับความตายอย่างแท้จริง ซึ่งมีห้วงเวลาที่ได้สัมผัสกับความกลัวตายหลายครั้ง  เช่นเมื่อตอนหน้ามืดเป็นลมขณะเดินและนึกถึงผู้เป็นแม่แล้วกล่าวคำขอขมาลาโทษ  และเมื่อไปนอนในถ้ำที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับงูเจ้าแม่และพระธุดงค์ผูกคอตาย ซึ่งทำให้ตระหนักด้วยความรู้สึก (ไม่ใช่ความคิด) ว่าแท้จริงถ้ำที่มืดมิดน่ากลัวอยู่ในใจของตัวเองนี้เอง  การกลัวความตายของเพื่อนก็เป็นความกลัวที่อยู่ในใจของตัวเอง

ในช่วงปัจฉิมวัยนี้เองที่เขาได้สัมผัสความตายจากความรู้สึก ไม่ใช่ความนึกคิดหรือเหตุผลหลายครั้งหลายครา ซึ่งนำมาสู่ความตระหนักรู้เกี่ยวกับความตาย และมองเห็นคุณค่าและความหมายของชีวิตที่อาจเรียกได้ว่า ได้เห็นแสงอันงดงามที่เจิดจ้าอยู่ภายในตัวเอง  อาจารย์ประมวลเล่าถึงประสบการณ์การเดินจาริกขึ้นเขาไกรลาส ที่ทิเบต ชาวพุทธสายวชิรญาณเชื่อว่าผู้ที่เดินขึ้นเขาไกรลาสคือผู้มีความพร้อมที่จะจบชีวิตและถือเป็นบุญมหาศาล  เมื่อเดินขึ้นสู่ยอดเขาร่างกายอ่อนล้า พลังชีวิตใกล้หมดจนต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ  ช่วงเวลานั้นเองที่เขาได้สัมผัสกับคุณค่าของสิ่งที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่นาทีแรกที่ออกจากครรภ์มารดา คือออกซิเจน และที่สำคัญคือการเห็นคุณค่าของชีวิต

“ตื้นตันในชีวิต น้ำตาไหล ผมมีชีวิตมาหกสิบปี รู้ว่าออกซิเจนมีความจำเป็นต่อชีวิตตั้งแต่นาทีแรกที่ลืมตา แต่ไม่เคยรู้สึกชัดแจ้งเหมือนนาทีนี้เลย  ขึ้นหน้าผาได้ใจแทบขาด รู้เลยว่าชีวิตนี้แสนเปราะบาง ความตายกำลังปรากฏแล้ว ผมตระหนักถึงความหมายของชีวิต ผมพร้อมที่จะตาย” อาจารย์ประมวลเล่า

เมื่อก้าวพ้นหน้าผาสู่จุดสูงสุดเป็นลานกว้าง กลิ่นควันไฟจากการเผากำยานลอยมาแตะจมูก เหนือศีรษะมีแร้งบินวน นั่งลงที่จุดที่มองเห็นกระดูกแขนขาของมนุษย์ที่ยังมีเศษเนื้อติดอยู่ บริเวณที่นี่คือสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีศพแบบทิเบตที่จะหั่นกระดูกเป็นส่วนและทิ้งไว้ให้แร้งกินเพื่อเป็นทาน  “นั่งดูแร้งกัดกิน ความรู้สึกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการเห็นเพื่อนถูกฆ่าตาย เพราะตอนนั้นมีความกลัวติดแน่น แต่ตอนนี้ไม่มีความกลัวอยู่เลย  รู้สึกดีเกินกว่าจะใช้ถ้อยคำบรรยาย รู้สึกเหมือนว่าเราน่าจะตายตอนนี้แล้วให้เนื้อเป็นทานกับแร้ง ถ้าจบชีวิตที่นี่คงเป็นความตายที่เกษมที่สุด  เมื่อความกลัวหายไป ความงดงามจะปรากฎ”

เขาไกรลาส ทิเบต

อีกครั้งหนึ่งคือการเดินขึ้นสู่ยอดเขาบนเทือกเขาหิมาลัย บนความสูงระดับ 8 พันเมตรในประเทศเนปาล ซึ่งพบกับภาวะคล้ายคลึงกันคือออกซิเจนต่ำจนเดินใจสั่นและแทบไม่สามารถกำหนดรู้ลมหายใจได้  เมื่อเดินไปถึงยอดเขาแทบหายใจแทบไม่ออก ภาพที่เห็นรอบตัวคือยอดเขาหิมาลัยตั้งตระหง่านสาดแสงด้วยแสงอาทิตย์เป็นสีทอง

“เกิดปีติตื้นตันถึงความหมายของชีวิตที่มหัศจรรย์ ผมรู้สึกว่าผมมีความหมายที่พร้อมจะบอกโลก แต่พูดเป็นถ้อยคำไม่ได้ แค่ยืนน้ำตาไหล  สิ่งที่อยากบอกคือภาพนี้เป็นความงดงามบนโลกมนุษย์จริงๆ และสัมผัสได้ถึงความงดงามที่ส่องสว่างเจิดจ้าในใจผม ที่มันเกิดขึ้นเพราะไม่มีเมฆหมอกแห่งความกลัวปกคลุม …เมื่อใดเราทำให้ความกลัวตายหายไปจากใจ ชีวิตจะมีความหมายที่งดงาม”

หนึ่งในยอดเขาบนเทือกเขาหิมาลัย

อาจารย์ประมวลยังเล่าถึงความเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ไม่อาจเคลื่อนไหวร่างกายได้ตลอดทั้งเดือน เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถจะเจ็บปวด จึงต้องนอนนิ่งๆ ราวกับคนตายแต่มีจิตรู้ ซึ่งทำให้มีโอกาสทบทวนชีวิต  และเมื่อร่างกายฟื้นคืนกลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้งก็ได้ค้นพบความสุขของชีวิต

“รู้สึกดีที่ได้ป่วยและมีจิตรู้ความเจ็บป่วย ดีใจที่สุดวันที่เข้าห้องน้ำได้เอง มีความสุขกับการตื่นนอน ยืน เดิน นั่งได้ นี่เป็นความงดงามแห่งชีวิตที่มีอยู่ในตัวคนทุกคน แล้วทำไมเราไม่มีความสุขกับสิ่งที่เราทำได้ และอีกไม่นานเราจะทำไม่ได้”

ความงดงามส่องสว่างเจิดจ้าขึ้นในใจ เพราะไม่มีเมฆหมอกแห่งความกลัวมาปกคลุม

เพื่อให้เชื่อมโยงกับชื่อเรื่อง “ความงดงามของแสงสุดท้ายแห่งชีวิต” ในงานวันแห่งการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ศิริราช (Siriraj Palliative Care Day 2015) ซึ่งคนฟังที่ส่วนใหญ่เป็นแพทย์พยาบาลและผู้ที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย อาจารย์ประมวลสรุปไว้อย่างน่าฟังและสร้างแรงบันดาลใจว่า

ในวัยหนุ่มสาวเรามีโลกกว้างอยากรู้อยากเห็นจึงส่งความคิดออกไปภายนอก  เมื่อวันเวลาท่องโลกกว้างและความคิดลดลงและหันมารู้สภาวะในใจตัวเอง ความกลัวตายก็จะคลายลง ทำให้เกิดความเบิกบานแจ่มใส สามารถเห็นอกเห็นใจและปลอบประโลมคนที่อยู่ในภาวะใกล้ตายหรือกลัวตายได้  ซึ่งมิใช่ทำเพื่ออนุเคราะห์ผู้ป่วยหรือญาติเท่านั้น หากแต่จะทำให้เห็นแสงภายในที่เจิดจ้าของตัวเอง และพบความหมายของชีวิตที่งดงาม

และเมื่อเราสัมผัสกับแสงภายในได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถฉายแสงได้  แม้ว่าจะอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตก็ตาม


ภาพประกอบ

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง