ขณะจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เรื่องความตายครั้งหนึ่ง ผมได้ยินรุ่นพี่กล่าวกับผมว่า “แปลกเนอะ ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติแท้ๆ แต่ต้องมาเสียเงินเสียเวลามาเข้าอบรมให้ตายเป็น”
ผมคิดตามรุ่นพี่คนนั้นก็รู้สึกว่า “จริงแฮะ”
แต่คิดอีกที มันก็คงจะเหมือนกิจกรรมพื้นฐานอื่นๆ ของมนุษย์ เช่น การกิน การนอน การเดิน หรือแม้แต่การหายใจ มนุษย์เกิดมาไม่ต้องเรียนก็ทำสิ่งเหล่านี้เป็น แต่จะทำให้ “ดี” ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเรียนรู้
นักวิทยาศาสตร์พบว่าความเจ็บป่วยบางอย่างเกิดจากการหายใจไม่ถูกสุขลักษณะ หายใจตื้นไป เร็วไป หายใจไม่เต็มที่ ผู้รู้บางคนก็จัดคอร์สอบรมเรื่องการหายใจอย่างถูกต้อง แม้ว่าราคาจะแพงแต่ผู้เข้าอบรมบอกว่าคุ้มค่า
เช่นเดียวกับเรื่องการหายใจ นักสังคมศาสตร์ก็พบว่าความเจ็บป่วยทางสังคม การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน การเบียดเบียนธรรมชาติ หรือแม้แต่ความทุกข์ ความเครียดของปัจเจกก็มีสาเหตุจากการมีท่าทีและทัศนคติต่อชีวิตและความตายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
ทัศนคติต่อความตายที่ดูจะมีปัญหา ได้แก่ ความประมาทในความตาย ความเกลียดกลัวความตาย การหลีกเลี่ยงละเลยที่จะครุ่นคิดและเรียนรู้ความตาย เหล่านี้เป็นท่าทีต่อความตายของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
เพราะกลัวตายจึงไม่ได้สนใจเรียนรู้เตรียมพร้อมรับมือกับความตาย
เมื่อถึงเวลาที่ตนเองหรือคนใกล้ชิดต้องตายจริงๆ ก็เกิดความสับสนอลหม่าน ทำอะไรไม่ถูก
เชื่อหรือไม่ว่าต่างประเทศก็ประสบปัญหานี้มาก เขาพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้ายนั้นไม่ดีเลย ผู้ป่วย ญาติ ตลอดจนแพทย์พยาบาลประสบความยากลำบากในการจัดการการตาย เพราะต่างก็ปฏิเสธความตายมาโดยตลอด แม้กระทั่งการบอกข่าวร้ายที่กระทบกระเทือนจิตใจก็อาจทำให้ผู้ป่วยทรุดหนัก หรือญาติอาจฟ้องร้องโรงพยาบาลจำนวนเงินมหาศาลได้ สถานการณ์ดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเรากำลังเปราะบางต่อความตาย
ด้วยเหตุนี้การดูแลแบบประคับประคองระยะท้ายของชีวิต (พาเลียทีฟแคร์) จึงติดขัด แม้ว่าจะบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถผ่านการอบรมทางเทคนิค มียาที่ช่วยลดความเจ็บปวดทรมานในช่วงท้ายของชีวิตอย่างเพียงพอ แต่ก็ยังติดอุปสรรคตรงที่ไม่สามารถพูดเรื่องความตายกับผู้ป่วยและญาติได้นี่แหละ
ท่าทีต่อ “ความตาย” ของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน คือการหลีกเลี่ยงที่จะคิดและพูดถึงมัน
กระทั่งคำว่าตาย หรือคำว่าเสียชีวิต หมอยังพูดให้ผู้ป่วยหรือญาติได้ยินแทบไม่ได้เลย ต้องใช้คำที่เป็นรหัส เช่น “เด้ด” “ไป” หรือไม่ก็เว้นวรรคไม่พูดเสียเฉยๆ
เมื่อพูดถึงความตายไม่ได้ จึงวางแผนการรักษาแบบ “ช่วยชีวิตจนหยดสุดท้าย” ซึ่งเป็นแนวทางหลักของการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรในการยืดชีวิตเกินความจำเป็น และบางรายกลับสร้างความทรมานแก่ผู้ป่วยเสียด้วยซ้ำ
หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาขององค์กรแพทย์ในสาขาดูแลแบบประคับประคองระยะท้ายในหลายประเทศ คือ การรณรงค์แคมเปญว่า “ความตายพูดได้” เขาพยายามที่จะรื้อถอนวัฒนธรรมแห่งการปฏิเสธความตายด้วยการเริ่มต้นพูดถึงมัน
ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าการไม่พูดถึงความตาย ไม่นึกถึงความตายจะส่งผลกระทบมากมายถึงเพียงนี้
กลับมามองที่สังคมไทย การรณรงค์การเรียนรู้ความตายในที่สาธารณะ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า จะใช้คำว่า “ตาย” อย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่
บางส่วนบอกว่าไม่ควร เพราะคนปัจจุบันถ้าได้ยินคำว่าตายแล้วจะเกิดอาการ “หูดับ” ไม่รับรู้ หรืออาจกลัวเข้าไปใหญ่ แต่บางส่วนก็บอกว่าควรจะสื่อสารคำว่าตายอย่างตรงไปตรงมา เพราะอย่างไรเสียเราก็หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับความตายไม่พ้นอยู่ดี
โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เห็นด้วยกับฝ่ายหลังครับ ไหนๆ จะพูดเรื่องตายแล้ว ก็พูดให้ดังๆ กลางห้างใหญ่ๆ ไปเลยดีกว่า
จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกิจกรรม “Before I die พร้อมก่อนตาย” ในวันที่ 11 – 12 ตุลาคม 2556 ณ ลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ในงานมีกิจกรรมที่จะชวนทุกท่านทบทวนชีวิตและใคร่ครวญความตายตลอดสองวัน นอกจากนี้ยังมีเวทีสนทนาหัวข้อ “Before I die ก่อนฉันจะตาย” โดยพระไพศาล วิสาโล ในวันที่ 11 ตุลาคม และเวทีเสวนาหัวข้อ “ก่อนฉันจะตาย” โดยคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ในวันที่ 12 ตุลาคม
งานนี้จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย