คน(กำลังจะ)ตาย สอนคนเป็น

ปรีดา เรืองวิชาธร 20 ธันวาคม 2009

คนที่มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคงตระหนักได้ดีว่า ช่วงเวลาแห่งการดูแล เป็นช่วงที่เราไม่คุ้นเคยอย่างยิ่ง หลายคนเต็มไปด้วยความรู้สึกเศร้าเสียใจและหวาดกลัวต่อการพลัดพรากที่กำลังจะมาถึง หลายคนอาจรู้สึกสับสนหรือเคว้งคว้างว่า ทางข้างหน้าของชีวิตจะเป็นอย่างไรหลังจากไม่มีเธอหรือเขาผู้นั้นอีกแล้ว ขณะเดียวกันต้องเหน็ดเหนื่อยไม่น้อยในการเฝ้าดูแล และบางครั้งยังต้องเผชิญกับอารมณ์ของตนที่ยากจะยับยั้งเมื่อต้องปะทะกับอารมณ์อันปรวนแปรของผู้ป่วย  ช่วงเวลาเช่นนี้จึงยากที่จะรักษาใจให้สงบมั่นคงได้

แต่ก็มีไม่น้อยเลยที่หลายคนสามารถเปลี่ยนแปลงภายใน จากการสัมผัสความจริงของชีวิตอย่างลึกซึ้ง  เขาเหล่านั้นต่างประจักษ์ว่า ไม่ใช่เราผู้ดูแลเท่านั้นที่เป็นฝ่ายให้ แต่ผู้ป่วยก็เป็นฝ่ายให้โอกาสเราได้เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ  ช่วงเวลาเช่นนี้เป็นโอกาสให้เราได้สัมผัสรับรู้ความดีงามภายในที่เหมือนถูกเก็บซ่อนไว้ในส่วนลึก และสามารถผลิบานงอกงามได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวหากเราดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง เราย่อมสัมผัสรับรู้ถึงความทุกข์ของเขาทั้งความเจ็บปวดทรมานทางกาย ความหวาดกลัว ความสับสนและห่วงกังวลในเรื่องคนใกล้ชิดที่ยังต้องอยู่ต่อไป ความรู้สึกผิดบาปที่คั่งค้างในใจ ที่สำคัญก็คือรับรู้ถึงความรู้สึกโหยหาความรักและความเข้าใจจากคนที่เขารัก

ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึงเราบ้าง เราคงรู้สึกไม่แตกต่างไปจากนี้มากนัก  ดังนั้นในระหว่างการดูแล หากเราตระหนักรู้ในข้อนี้มากขึ้นเท่าใด ความดีงามภายในอย่างเช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึกที่ให้อภัย ใจที่สามารถยอมรับอย่างที่เขาเป็นโดยเฉพาะยอมรับอย่างใจกว้างต่อความผิดพลาดของมนุษย์ เป็นต้น ก็จะผลิบานออกมาจากใจ ซึ่งเราอาจคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

เป็นธรรมดาอย่างยิ่งที่เมื่อจิตใจของเราเริ่มรู้สึกอยากเห็นเขาเป็นสุขหรือพ้นจากความทุกข์ทรมาน (แม้เขาจะดีหรือร้ายเพียงใด) ผู้ป่วยย่อมสามารถสัมผัสรับรู้ถึงความรักและพร้อมที่จะอ้าแขนรับการปฏิบัติดูแลด้วยดี ทั้งยังทำให้เขาไว้วางใจเพื่อระบายความในใจออกมาให้เราได้รับรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่ความชัดเจนในการปฏิบัติดูแลหรือช่วยจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยหัวใจที่เปิดกว้างจึงเต็มไปด้วยคุณภาพ ซึ่งรวมเอาความรักและมิตรภาพอันลึกซึ้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นไว้ด้วย

นอกจากสัมผัสรับรู้ถึงความดีงามที่เกิดขึ้นภายในแล้ว ผู้มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนได้ถ่ายทอดเสียงสะท้อนจากภายในอันเป็นข้อคิดคำนึงดีๆ สำหรับชีวิตและสังคม ที่อยากจะแบ่งปันให้เราทั้งหลายที่ยังต้องอยู่ต่อไปดังนี้

เสียงแรก

ฉันโชคดีมากที่มีโอกาสได้ดูแลลูกที่เพิ่งจากไปไม่นาน แม้ช่วงเวลานั้นจะขมขื่นที่สุดเท่าที่ฉันเคยประสบมา การได้อยู่กับเขาในช่วงเวลานั้น มันเหมือนกับเรียกความรู้สึกผูกพันอันลึกซึ้งคืนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งได้ห่างหายไปนาน นับตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็กเล็กๆ  แต่ต่างกันมากอย่างหนึ่งก็คือ การดูแลช่วงที่เขาป่วยหนักจนถึงวันที่เขาจากไป มันทำให้ฉันเข้าใจความจริงของชีวิตและยอมรับได้มากขึ้น  การเกิดและจากไปของชีวิตซึ่งกินช่วงเวลาไม่นานนัก ทำให้ฉันได้ใคร่ครวญภายในมากขึ้นว่า วันเวลาที่เหลืออยู่ฉันจะตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาเงินทองทรัพย์สินไปมากมายล้นพ้นทำไมกัน ถึงจะมีอยู่มากเพียงใดก็ยังไม่สามารถแบ่งเบาความขมขื่นจากการพลัดพรากได้แม้สักนิด

ชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ฉันอยากจะให้ชีวิตได้สัมผัสความสุขเย็นภายในมากขึ้น อยากจะหยุดแสวงหาวัตถุทั้งหลายลงบ้าง ทุกวันนี้การทำจิตใจให้สงบด้วยสมาธิช่วยให้ชีวิตสงบนิ่งมีความมั่นคงภายในมากขึ้น ช่างแปลกดีนะที่จิตใจอันสงบมั่นคงนี้ทำให้เรามองเห็นรอยยิ้มและความสุขของคนอื่นได้ชัดเจนขึ้น และมันทำให้ฉันพลอยรู้สึกปลื้มไปด้วย เพราะที่ผ่านมาฉันแทบไม่เคยใส่ใจรับรู้ คงเป็นเพราะชีวิตวุ่นวายสับสนเกินไป

อีกอย่างหนึ่งที่ฉันรู้สึกดีกับตัวเองมาก คือการได้รับฟังเสียงความทุกข์ภายในจากคนรู้จักหลายคนที่หาใครปรับทุกข์ไม่ได้ เขาก็เลือกฉันนี่แหละ คงคิดว่าฉันปลงตกกับชีวิตได้ แต่ฉันว่าเป็นเพราะใจมันเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังเรื่องราวได้มากขึ้นต่างหาก  ฉันไม่ได้ให้ข้อคิดกับเขามากมายหรอก เพียงแค่รับฟังและให้กำลังใจเล็กน้อยเท่านั้น  รอยยิ้มน้อยๆ ของเขาที่บ่งบอกถึงความรู้สึกดีเป็นสิ่งตอบแทนที่ทำให้ฉันมีความสุขในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าฉันจะไม่มีความสามารถอื่นใดมากมาย เพียงเป็นส่วนหนึ่งของความสุขผู้อื่นฉันก็พอใจแล้ว

ไม่ใช่ผู้ดูแลเท่านั้นที่เป็นฝ่ายให้ แต่ผู้ป่วยก็เป็นฝ่ายให้โอกาสเราได้เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ

เสียงที่สอง 

ฉันกับเพื่อนที่อยู่ห้องดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้เห็นมาตลอดว่า ความทุกข์ทรมานจากความตายนั้นมีมากมายเหลือเกิน แต่ทุกวันนี้ทำไมทั้งในบ้านเราและที่อื่นกลับเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรงเข่นฆ่ากันมากขนาดนี้ ทำเหมือนกับความตายของคนไม่มีความหมายอะไร  เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่างๆ ในขณะนี้มันช่วยกระตุ้นเตือนให้พวกเราที่ทำงานใกล้ชิดกับความตายได้ตระหนักมากขึ้นว่า จะพยายามหลีกเลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง หากเป็นไปได้อยากจะร่วมมือเพื่อหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ อาจเริ่มที่การใคร่ครวญสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีวิจารณญาณ จะได้ไม่ตกไปสู่หลุมพรางของความรุนแรง และอยากให้ช่วยกันสะกิดเตือนกันให้ใจกว้างต่อความแตกต่างหลากหลาย ที่แม้เขาจะคิดและเป็นไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ และช่วยกันสนับสนุนทางเลือกออกจากปัญหาต่างๆ ด้วยสันติวิธี

เสียงสุดท้าย 

การร่วมเผชิญความตายของคนที่เรารักหรือผูกพันใกล้ชิดนั้น เป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้เราฉุกคิดและทบทวนย่างก้าวของชีวิตที่เหลืออยู่ว่า ชีวิตที่มีคุณค่าความหมายที่ดีงามควรเป็นอย่างไร และเราจะใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทได้อย่างไร

เราจำต้องเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า ชีวิตนั้นอีกไม่นานก็ต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติ ดังนั้นหากมีกิจสิ่งใดที่จะนำไปสู่ความสุขกายสบายใจ เราจะไม่ผัดผ่อนแต่จะขวนขวายทำไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะทำได้ทีละเล็กทีละน้อยก็ตาม โดยเฉพาะการฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณด้วยการหมั่นทำจิตใจให้สงบตั้งมั่น  จะเป็นการทำสมาธิแบบไหนก็ได้ที่เหมาะสมกับเรา รวมถึงฝึกฝนจิตใจให้คลายจากความรู้สึกว่ามีตัวเรา มีของของเรา ซึ่งใจที่รู้สึกยึดมั่นถือมั่นนี้มีอยู่ในทุกเรื่อง ทั้งในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง อาชีพการงาน ครอบครัว คุณงามความดี  หรือแม้แต่ยึดตัวเองไว้

ดังนั้นชีวิตที่เหลืออยู่หากได้ฝึกคลายความยึดมั่นไปทีละเล็กละน้อย ก็เท่ากับเราเริ่มเตรียมตัวที่จะเผชิญความตายด้วยใจที่สงบแล้ว เพราะเมื่อเวลานั้นมาถึง เราย่อมพร้อมมากขึ้นในการเผชิญความจริงชีวิตที่เราเคยหวาดกลัวกันมาตลอด


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน