สังคมไทยกำลังถลำสู่วงจรแห่งความรุนแรงลึกขึ้นทุกที ลำพังอาชญากรรมที่เกิดขึ้นแต่ละวันก็นับว่ามากมายชนิดติดอันดับโลกแล้ว สองปีหลังยังมีการฆ่าฟันผู้คนจำนวนมากโดยมีรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เริ่มจากการฆ่าตัดตอนกว่า ๒,๕๐๐ ศพเมื่อปีที่แล้ว มาถึงความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งมีทั้งความรุนแรงจากผู้ก่อความไม่สงบเอง และความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นข่าวไปทั่วโลกย่อมหนีไม่พ้นกรณี ๒๘ เมษายน ซึ่งมีคนตายถึง ๑๐๗ คน และล่าสุดคือกรณี ๒๕ ตุลาคม ซึ่งมีคนตายอย่างมีเงื่อนงำถึง ๘๕ คน
ในยามนี้คนจำนวนไม่น้อยคิดแต่การตอบโต้ด้วยความรุนแรง “บ้ามา ก็บ้าไป” นายกฯ ทักษิณเคยประกาศไม่นานมานี้ จนชวนให้หลายคนคิดว่าการตายของผู้ประท้วงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส คือผลพวงของนโยบายดังกล่าว น้อยคนที่นึกว่าในยามนี้คติประจำใจที่สำคัญยิ่งกว่าอื่นใดหมดก็คือ “ยิ่งบ้ามา ก็ยิ่งต้องมีสติกลับไป” ความรุนแรงนั้นไม่อาจระงับความรุนแรงได้ บทเรียนในอดีตโดยเฉพาะของไทยเราเองได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการมีสติและใช้ปัญญาในการเผชิญหน้ากับความรุนแรง และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การให้อภัย
ธรรมานุรักษ์ ฉบับนี้เน้นเรื่องการเผชิญหน้ากับความรุนแรงด้วยสันติธรรม แม้จะไม่ได้เสนอทางออกที่เป็นรูปธรรม แต่เชื่อว่าทัศนคติหรือท่าทีต่อปัญหาเป็นเรื่องสำคัญเหนืออื่นใด ทั้งนี้งมิได้หมายถึงเฉพาะท่าทีของผู้กุมอำนาจรัฐหรือมีอาวุธอยู่ในมือเท่านั้น หากยังรวมไปถึงทัศนคติของคนทั่วไป ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนส่งให้เกิดการใช้ความรุนแรงมากขึ้น ทัศนคติของคนทั่วไปนี้เองเกี่ยวข้องอย่างมากกับสิ่งที่เรียกว่า “ความรุนแรงทางวัฒนธรรม”
ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดเลือดตกยางออกนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก หากปราศจากการหนุนเสริมจากความรุนแรงทางวัฒนธรรม ความรุนแรงทางวัฒนธรรมกำลังฝังรากลึกและแผ่ขยายไปทั่วสังคมไทย หากไม่ตระหนักและไม่แก้ไข สังคมไทยย่อมลุกเป็นไฟได้ง่าย
อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่