เวลาเราดื่มนม เคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่า ที่ข้างขวดนมจะมีตัวอักษรเล็กๆ สลักไว้ว่า “วันหมดอายุ” เราจะสังเกตมันมากหน่อยหากนมนั้นเป็นประเภทที่หมดอายุเร็ว แต่เราไม่ค่อยจะสังเกตมันเท่าไหร่ถ้าเป็นนมกล่องที่หมดอายุช้า กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่านมเสียแล้วก็หลังจากได้ลิ้มรสบูดเปรี้ยวนั่นแหละ
“วันหมดอายุ” ที่สลักไว้ข้างกล่องนม มักเขียนไว้ว่า EXP ที่ย่อมาจาก Expiration Date นั้น มักปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์ที่กินได้ แต่หากไม่ได้สลักวันหมดอายุไว้ เรารู้วันหมดอายุได้จากวันผลิต เช่น ยากินมีอายุไม่เกิน 1 ปี นับจากวันผลิต ปลากระป๋องมีอายุไม่เกิน 1 – 3 หรือไม่ก็ดูความบวมบูดของบรรจุภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์ที่กินได้ล้วนมีวันหมดอายุ แต่ผลิตภัณฑ์ที่กินไม่ได้ก็หมดอายุได้เช่นกัน สินค้าแฟชั่น แม้ตัวสินค้ายังไม่เน่าเสีย แต่กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็มักทำให้ผู้ใช้ “รู้สึก” ว่าผลิตภัณฑ์ที่เราเป็นเจ้าของอยู่นั้นหมดอายุลงเสียแล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า เป็นต้น
กระทั่งสิ่งนามธรรม ได้แก่ ความรู้ วิชาการ ก็มีอายุที่จำกัด ความรู้เดิมจะถูกถกเถียง โต้แย้ง หาข้อพิสูจน์ จึงมีโอกาสที่ความรู้จากเดิมเคยถูกก็กลายเป็นผิด จากที่เคยคิดว่ารู้ บัดนี้กลับไม่รู้เสียแล้ว เราเคยคิดว่าโลกแบน เราเคยคิดว่าสุริยะจักรวาลมีดาวเคราะห์ 9 ดวง แต่บัดนี้ความรู้เหล่านี้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว ความจริงบางอย่างที่เรารู้ล่ะ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าในอนาคตมันจะยังจริงอยู่
คำสรรเสริฐ ยศฐาบรรดาศักดิ์ หรือแม้กระทั่งความดี ที่มักคิดกันว่า “อยู่ยืนยง ยาวนานเสียยิ่งกว่าชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง” ก็มีวันหมดอายุเช่นเดียวกัน บางชุมชนต้องการระลึกถึงคุณงามความดีของบุคคลนั้นๆ จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ แต่อย่าลืมว่าอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญหลายคนในประวัติศาสตร์ต้องถูกรื้อทิ้ง แม้แต่พระพุทธรูปยังต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน
ทรัพย์สมบัติที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุ ที่อาจนับว่ามีมูลค่ามหาศาลจนใช้ชั่วลูกหลานก็ไม่หมด ก็อาจมลายสิ้นเพียงเพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองทรัพย์สิน หรือระบบเศรษฐกิจพังพาบ เพียงเท่านี้ทรัพย์สินเหล่านั้นก็ไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าตัวเลขในกระดาษทด
สิ่งต่างๆ ที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคน ถึงวันหนึ่งก็อาจสูญสลายไปจนหมด
อารยธรรมที่รุ่งเรือง เช่น อียิปต์ กรีก โรมัน ราชวงศ์ถัง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่กำเนิด เติบโต แล้วล่มสลายไป นับประสาอะไรกับชีวิตคนที่หมดอายุก่อนหน้านั้นมากมายนัก ยิ่งเมื่อพิจารณาความสุข ความทุกข์ อารมณ์ปรุงแต่งต่างๆ ด้วยแล้ว การหมดอายุของมันยิ่งสั้นเพียงพริบตา
กฎที่ว่าทุกสิ่งที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งล้วนมีวันหมดอายุ ข้อนี้ยังประยุกต์ใช้ได้กับดวงดาว โลก ดวงอาทิตย์ แม้แต่จักรวาลที่ก็มีวันหมดอายุของมัน
ชีวิตของพวกเราเองเช่นกัน ที่ก็ต้องถึงคราวหมดอายุในวันหนึ่ง เพียงแต่ว่าเราไม่รู้ว่าวันหมดอายุของเราคือเมื่อไหร่ อาจหมดตามอายุไขเฉลี่ย หรือหมดในวันนี้วันพรุ่งก็เป็นได้
ที่ไล่เรียงมาเช่นนี้มิได้หวังให้เศร้าสลด รันทดชีวิตเพราะเหตุที่ว่าเวลาของเรามีอยู่น้อยนิด เพราะในขอบเขตอายุอันแสนสั้นนั้น ได้บรรจุคุณค่า ความหมายอันอัศจรรย์ไว้อย่างเต็มเปี่ยม แมลงชีปะขาวใช้เวลาหลังจากเกิด เติบโต สืบพันธุ์ ผลิตลูกหลาน และตายภายในวันเดียว อายุที่สั้นไม่ได้ทำให้ชีวิตของมันหมดความหมาย
หลายคนใช้อายุสั้นๆ เท่าที่พวกเขามีอยู่นี้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากมาย ก่อตั้งบริษัทที่มั่งคั่ง ผลิตผลงานที่เป็นมรดกของโลก หรือแม้แต่การประกอบสัมมาชีพด้วยความประณีต หรือดูแลเด็กสักคนให้เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ดี เหล่านี้คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่พวกเราสามารถสร้างสรรค์ได้ในชั่วอายุที่แสนสั้น
การเท่าทันชีวิตที่มีวันหมดอายุ จะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของปัจจุบัน เพราะเวลาที่เราพอจะทำอะไรได้นั้น แม้จะมีอยู่อย่างจำกัด แต่มันก็อยู่อย่างเต็มเปี่ยมแล้วในกำมือของเราแต่ละคน ในชั่วขณะนี้เอง