ถ้าเราเปรียบเทียบวิกฤติชีวิตเป็นเหมือนการสอบไล่เพื่อข้ามชั้นเรียน ช่วงชีวิตของเราจะต้องประสบกับวิกฤติชีวิตครั้งใหญ่ๆ ที่สำคัญ ดังเช่น ทารกตัวน้อยที่กำลังถือกำเนิด การคลอดออกจากท้องแม่ ออกจากโลกที่คุ้นเคย ปลอดภัย และสุขสงบจากมดลูกของแม่มาสู่โลกกว้างใหญ่ มาอยู่กับคนแปลกหน้า มาเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง และทารกตัวน้อยก็ไม่รู้อะไรเลยกับโลกใบใหม่ ชีวิตอยู่รอดได้ด้วยการโอบอุ้มจากคนอื่น จากธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่
ทารกเริ่มเติบโตเป็นเด็กน้อย สู่วัยรุ่น วัยทำงาน และเข้าสู่วัยชรา แต่ละจังหวะของช่วงชีวิต เราพานพบวิกฤตการณ์อันเป็นเหมือนการสอบไล่เข้ามาทดสอบเป็นระยะๆ ทั้งที่เราคาดหมายและไม่ได้คาดหมาย เช่น การเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ การสูญเสียบุคคลหรือทรัพย์สินอันเป็นที่รัก การประสบเรื่องราวทุกข์ทรมานทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม การพบปะกับบุคคลที่เป็นมิตร คนพาล การเผชิญกับเรื่องราวหรือบุคคลที่เป็นต้นเหตุความทุกข์ทางใจ เช่น ความผิดหวัง โกรธแค้น ขุ่นเคือง หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ การต้องตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบาก ฯลฯ สิ่งที่แน่นอนคือ เมื่อมีชีวิตเราหลีกเลี่ยงการสอบไล่เหล่านี้ไม่ได้ สิ่งเดียวที่เป็นภารกิจของการมีชีวิตคือ การก้าวข้ามหรือสอบให้ผ่านวิกฤตินี้ให้ได้ แต่ “ผ่านอย่างไร” คือประเด็นสำคัญ
ปฏิกิริยาสำคัญยามที่เราต้องสอบไล่ คือ ความเครียด ความวิตกกังวล ปฏิกิริยาเหล่านี้ก่อความทุกข์ทรมาน และเป็นสาเหตุโรคร้ายต่อสุขภาพร่างกาย รวมถึงส่งผลกระทบต่อสังคม ต่อความสัมพันธ์ ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิริยาเหล่านี้ก็ให้ประโยชน์ในแง่เป็นตัวเร่งและกดดันให้เราดำเนินการบางอย่างเพื่อคลี่คลายภาวะเครียดและภาวะกดดันตรงนั้น แต่การดำเนินการนี้อาจแบ่งได้ ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะเชิงสร้างสรรค์ คือ การดำเนินการเพื่อคลี่คลายหรือแก้ไขภาวะการณ์นั้น เช่น ความเครียดจากการเรียน การทำงาน เราสามารถเผชิญกับปฏิกิริยานี้โดยการจัดการกับปัญหาโดยตรง เช่น การเตรียมตัวด้านความรู้ ด้านทักษะ กับอีกลักษณะของการตอบโต้ปฏิกิริยา คือ การหลีกเลี่ยง เช่น หันเห หรือผ่อนคลายความเครียด ความกังวล ด้วยความบันเทิง การเสพ การบริโภค การใช้ยาเสพติด ฯลฯ
พร้อมกันนี้ แต่ละช่วงจังหวะของชีวิตเราต่างพานพบประสบการณ์ความทุกข์ที่เป็น “บาดแผล” และความสุขที่เป็น “ความประทับใจ” เราล้วนเติบโตมาด้วยการสั่งสมบาดแผลและความประทับใจ กลายเป็นบุคลิกภาพและอุปนิสัยความเคยชินที่จะถูกใช้ไปในเรื่องราวสำคัญ ๓ ทางด้วยกันคือ ๑) เรื่องราวเพื่อการดำรงชีวิต การอยู่รอด ความมั่นคงปลอดภัย การดูแลสุขภาพกาย ใจ อีกลักษณะ ๒) เรื่องราวเพื่อสัมพันธภาพในสังคม ครอบครัว เพื่อน การงาน ชุมชน โดยมุ่งหมายเพื่อการยอมรับในสังคม การเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ชุมชน และเรื่องสำคัญสุดท้ายคือ ๓) เรื่องราวของความสัมพันธ์ใกล้ชิด ตัวเรากับคนพิเศษ คนสำคัญในชีวิต เรื่องราวสำคัญเหล่านี้ขับเคลื่อนไปภายใต้กรอบของวัฒนธรรม สังคม ประเพณี
เรามีภารกิจที่จะต้องก้าวข้ามหรือสอบให้ผ่านวิกฤติต่างๆ ในชีวิต แต่ “ผ่านอย่างไร” คือประเด็นสำคัญ
ในแต่ละช่วงวัย เราอาจต้องพบวิกฤตการณ์ ถูกบังคับให้เข้าสอบไล่โดยทันทีจากความตายที่เข้ามาโดยคาดไม่ถึง ความตายเป็นจุดเชื่อมระหว่างภาวะมีชีวิตกับภาวะไร้ชีวิต จากโลกที่แวดล้อมด้วยครอบครัว ในทางธิเบตถือว่า ภาวะช่วงต่างๆ ของชีวิตซึ่งเรียกว่า บาร์โด การเปลี่ยนผ่านบาร์โดระหว่างบาร์โดแห่งการมีชีวิต กับบาร์โดหลังความตาย รอยต่อคือ บาร์โดแห่งการตาย บาร์โดนี้เป็นช่วงภาวะแห่งการทุกข์ทรมาน ภาวะการตายดีหรือไม่ดี ขึ้นกับภาวะนี้เราเตรียมชีวิต เตรียมจิตใจมาอย่างไรเพื่อสอบไล่กับภาวะนี้ เนื่องเพราะกระบวนการมีชีวิตกำลังสูญสลาย องค์ประกอบชีวิต ดิน น้ำ ลม ไฟ ในตัวเราค่อยๆ สูญสลาย
น่าสนใจว่า จากทารกแรกเกิดจนถึงวัยชราใกล้หมดลม ระหว่างทางเราได้เติบโตผ่านการโอบอุ้มจากธรรมชาติรอบตัวที่โอบอุ้มเรามา แล้วเมื่อถึงวันหนึ่งเราก็ต้องถ่ายคืนให้กับธรรมชาติ ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง สายสัมพันธ์ การงาน สิ่งเหล่านี้ไร้ความหมายเมื่อเราต้องตายจากไป แบบทดสอบสำคัญคือ เราพร้อมสละปล่อยวางสิ่งเหล่านี้หรือไม่ยามเมื่อเวลาแห่งการตายมาถึง เพราะถ้าเราปล่อยวางไม่ได้ ก็คือ การสอบไม่ผ่านกับชีวิต
ถึงที่สุด เราดำเนินชีวิตอย่างไร เราสั่งสมแบบเรียนชีวิตอะไร อย่างไร และไม่ว่าเราจะมองชีวิตอย่างไร มีแนวทางของจิตวิญญาณอย่างไร ท่านทะไลลามะได้ให้ข้อสรุปในประเด็นนี้ด้วยประโยคสั้นๆ คือ “เราดำเนินชีวิตมาอย่างไร เราก็ตายแบบนั้น” เราทุกคนต่างปรารถนาการตายที่ดี แต่สิ่งนี้ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ เริ่มตั้งแต่เราดำเนินชีวิตมาอย่างไร เราสั่งสมความดี ความชั่วมาอย่างไร เราเรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาคุณภาพจิตใจของเรามาอย่างไร ภาวะการตาย คือบททดสอบชีวิต เป็นการสอบไล่ครั้งใหญ่สุด และเป็นครั้งสุดท้าย ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากโรคภัยที่เบียดเบียน และทบทวีด้วยความวิตกกังวล หวั่นกลัวต่อความตาย การพลัดพราก ลาจาก สูญเสีย ความคิดนึก ภาพเหตุการณ์ต่างๆ กระตุ้นความรู้สึกเศร้าเสียใจ อาลัย โกรธ ขุ่นเคือง เปรียบได้กับขบวนรถไฟที่แต่ละตู้โดยสารบรรทุกด้วยความรู้สึกต่างๆ นานาเคลื่อนขบวนกันเข้ามา บาดแผล ความประทับใจ ในแง่กุศลกรรม และอกุศลกรรมปรากฏขึ้น อันจะส่งผลต่อชีวิตในภายภาคหน้า
เส้นทางชีวิตนี้แสนสั้นนัก สำหรับการหลงผิดหรือประมาท แต่ก็ยาวเพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อก้าวเดินและเติบโตในทางที่ถูกต้อง รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับบททดสอบและการสอบไล่ที่เข้ามาเป็นระยะ จนถึงบททดสอบชีวิตบทสุดท้ายคือ ความตาย