หนังสือดีที่คนตายจะได้อ่าน

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 13 สิงหาคม 2017

บอกกล่าวแกมชักชักชวนกันตั้งแต่เปิดอบรมการเขียนหนังสืองานศพตัวเอง Book of Memorial ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2559

อย่าเพิ่งตาย ถ้ายังไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้

เป็นคำท้าทายเชิงลองใจ ว่ากล้าไหมที่จะนั่งลงเขียนหนังสืองานศพตัวเอง

จากแนวคิดของเครือข่ายพุทธิกาที่เชื่อว่า สังคมจะเปลี่ยนไป ถ้าผู้คนตระหนักเรื่องความตาย

ถ้าได้ระลึกรู้ว่า เราอาจจากไปในตอนไหนก็ได้ เราก็จะสะสางทุกสิ่งไว้เสร็จสิ้นเสมอแบบ “ทำเสร็จทุกวัน” ไม่ว่าการงาน ทรัพย์สิน หรือสิ่งคั่งค้างใดๆ

ทุกการพบเจอหากเราได้ตระหนักเสมอว่านี่อาจเป็นการเจอกันครั้งสุดท้าย คำพูดจาท่าทีที่มีต่อกันก็ย่อมเป็นไปในทางอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจ และปฏิบัติต่อกันอย่างดีที่สุด

การผัดวันประกันพรุ่ง รีรอต่อสิ่งที่ตั้งใจจะทำย่อมไม่มีอีกต่อไป  ความตั้งใจที่จะดูแล ทำดีต่อพ่อแม่  ความรัก ความเอาใจใส่ ความตั้งใจที่จะโอบกอดให้ความอบอุ่นแก่ลูกหลาน ฯลฯ ก็จะได้รับการลงมือทำทันทีนับแต่บัดนี้ เพื่อจะไม่ต้องรู้สึกติดค้างหรือนึกเสียใจภายหลัง

ไกลกว่านั้นไปถึงขั้นปรมัตถ์ หากการเจริญภาวนาระลึกถึงความตาย ทำให้เราปล่อยวางจนละทุกสิ่งได้เมื่อเผชิญหน้ากับวาระสุดท้าย ก็ถือว่าได้เข้าถึง “การตายก่อนตาย” ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้

ที่เชิญชวนให้เขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพตัวเอง หรือ Book of Memorial ก็เป็นกุศโลบายหนึ่งที่เครือข่ายพุทธิกาหวังว่าจะเป็นเครื่องมือหรือสื่อกลางให้คนกล้าพูดถึง นึกคิด พินิจกับความตาย  และเป็นการได้ทบทวนทางชีวิตที่ผ่านมา แล้วบันทึกแง่มุมที่อยากให้คนรุ่นหลังได้รู้ผ่านเรื่องราวที่เราบอกเล่าไว้เอง

ผมได้รับการชักชวนให้มาช่วยในด้านเทคนิควิธีการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียน

หนังสืออนุสรณ์งานศพโดยทั่วไป เนื้อหาไม่พ้นจาก ๓ หมวดใหญ่ๆ ได้แก่

ประวัติของผู้จากไป 

ทั้งแบบที่ไล่เรียงเป็นหัวข้อ  เรียงลำดับเหตุการณ์สำคัญตามปี พ.ศ.  หรือแบบร้อยเรียงเป็นเรื่องราว

ผลงาน สิ่งที่สร้างทำไว้ 

อาจเป็นงานอาชีพ งานฝีมือ โครงการ งานค้นคว้า คิดค้น งานประดิษฐกรรม ความเชี่ยวชาญ งานภาพถ่าย ผลงานเขียน งานวิชาการ  ฯลฯ

คำไว้อาลัย 

เป็นถ้อยคำที่คนอื่นกล่าวขานถึงเขา

ตามขนบเนื้อหาทั้งหมดนี้มักเกิดขึ้นหลังเจ้าของเรื่องราวลาโลกไปแล้ว และเป็นสิ่งที่คนข้างหลังทำให้เขา

การเขียนหนังสืองานศพตัวเองก็สามารถอิงตามองค์ประกอบโครงสร้างตามนี้ได้ เพียงแต่พลิกเปลี่ยนจากการรอให้คนข้างหลังจัดทำให้ เป็นการจัดทำไว้ด้วยตัวเอง

โดยหลักทฤษฎีการเขียน งานแนวนี้จัดอยู่ในประเภทสารคดีชีวิต เป็นอัตชีวประวัติ หรือเรื่องเล่าส่วนตัว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลกับกฎเกณฑ์หลักการเขียนแบบเคร่งครัดนัก

เพราะอย่างน้อยที่สุด หนังสืออนุสรณ์งานศพก็มีคนอ่านกลุ่มหนึ่งแน่นอนอยู่แล้ว คือญาติมิตรที่มาร่วมงาน ซึ่งย่อมอยากรู้เรื่องราวของผู้จากไปอย่างละเอียด

แต่มากกว่านั้น หนังสือเล่มหนึ่งอาจเป็นประโยชน์กับคนอ่านมากกว่าแค่ในหมู่คนรู้จัก  หากหนังสือเล่มนั้นมีความน่าสนใจ มีเนื้อหาที่จับใจและให้บทเรียนแก่คนอ่าน ก็จะกลายเป็นหนังสือที่ “อยู่นาน” และมีคุณค่า

ส่วนหลังนี้ที่กระบวนการอบรมและการเรียนรู้เทคนิควิธีการเขียน จะมีส่วนช่วยหนุนเสริมให้ไปสู่จุดหมายดังกล่าวนั้นได้

ไม่ถึงกับต้องแม่นทฤษฎี กฎเกณฑ์ หรือหลักการเขียนแบบเข้มข้นแต่อย่างใด

แค่เริ่มจากการตั้งชื่อเรื่องที่เจาะจง จูงใจ  ซึ่งจะช่วยให้คนเขียนมีจุดยึดกุม คุมประเด็นที่อยู่ในความคิดไม่ให้ฟุ้งออกนอกเรื่อง  และเรียกความสนใจจากคนอ่านได้เมื่อเห็นชื่อเรื่อง

กับความใส่ใจในการ เปิดเรื่อง ที่เร้าความอยากรู้-อยากอ่านต่อจากผู้อ่าน

จากนั้นก็เล่าเรื่องไปตามที่อยากเล่า ไปจนจบ

ในตัวเรื่อง ถ้าจะให้ดีก็ควรมีจุดเด่นผุดโผล่ขึ้นมาให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจคนอ่านบ้างเป็นระยะ  ไม่ให้ตลอดเรื่องแบนราบ เรียบเรื่อยจนชวนง่วง หรือผละจากไปก่อนอ่านจบ

และตั้งใจกับการ ปิดเรื่อง ที่เป็นส่วนทิ้งท้าย หรือสรุปบทเรียนประเด็นที่เล่า แบบไม่ใช่การกล่าวสรุป

เพราะอย่างน้อยที่สุด หนังสืออนุสรณ์งานศพก็มีคนอ่านกลุ่มหนึ่งแน่นอนอยู่แล้ว คือญาติมิตรที่มาร่วมงาน ซึ่งย่อมอยากรู้เรื่องราวของผู้จากไปอย่างละเอียด

หากมีเนื้อหาจับใจและให้บทเรียนแก่คนอ่าน ก็จะกลายเป็นหนังสือที่ “อยู่นาน” และมีคุณค่า

กลวิธีการสร้างอรรถรสให้งานเขียนมีหลากหลาย แต่เคล็ดลับเบื้องต้นอย่างง่ายที่สุด คือการย่อหน้าบ่อยๆ เมื่อขึ้นประเด็นใหม่ หรือเรื่องราวดำเนินไป  เท่านี้ก็สร้างความสบายตาน่าอ่าน พาผู้เสพลื่นไหลไปกับเรื่องเล่าอย่างรื่นรมย์

ชิ้นงานฝึกหัดของนักเขียนใหม่ ลองปรับจัดย่อหน้าเสียใหม่ให้ลงตัว งานชิ้นนั้นก็จะดีขึ้นโดยยังไม่ต้องแก้ถ้อยคำใดๆ

อีกอย่างที่ทำได้ง่ายๆ คือการเล่าด้วยการสำแดงให้เห็นเหตุการณ์  แทนการเล่าแต่โดยน้ำเสียงของผู้เขียน ไปตลอดทั้งเรื่อง ก็ลองให้มีเสียงสนทนาของผู้คนที่อยู่ในเรื่องปรากฏออกมาบ้าง เรื่องเล่าก็จะมีสีสันขึ้น

เป็นเทคนิคอย่างง่ายที่ทุกคนสามารถทำได้เมื่อรู้เคล็ดวิธี

ช่วงสัปดาห์ต้นเดือนสิงหาคม ธนาคารกรุงไทยเชิญให้ไปฝึกอบรมการทำหนังสืองานศพให้กับพนักงานและผู้ได้รับเชิญเป็นการเฉพาะจำนวน ๓๐ คน  หลายคนเริ่มต้นเขียนบางบทสำหรับหนังสืองานศพตัวเองได้อย่างน่าสนใจและเห็นแง่มุมที่สามารถเป็นบทเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อเนื่องถึงคนอ่าน

มีบางคนเสียดายกับช่วงเวลา ๓ ปีตอนอยู่มัธยมปลาย ที่ขัดแย้งกับแม่ถึงขั้นไม่พูดจากัน เนื่องจากสาขาวิชาที่ลูกเลือกเรียนไม่ตรงกับที่แม่ต้องการ  สถานการณ์คลี่คลายลงแล้วหลังจากเธอสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คณะที่ไม่น้อยหน้าคนอื่น แต่เธอยังอยากชดเชยเยียวยาเวลา ๓ ปีที่เสียไป

บางคนเข้าใจและเชื่อมั่นเรื่องการตายดี และอยากให้พ่อได้เข้าสู่วาระสุดสุดท้ายเช่นนั้น  ท่ามกลางญาติพี่น้องที่ปรารถนาจะยื้อลมหายใจด้วยเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่  แต่โชคดีที่พ่อเห็นด้วยกับเธอ

บางคนแบ่งปันบทเรียนที่เกือบจะกลายเป็นความรู้สึกผิดติดค้างใจไปตลอด  จากการทิ้งผู้ป่วยไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่น จนเกือบไม่ได้กล่าวคำลาในวาระสุดท้ายของญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด

บางคนแบ่งเหตุการณ์ป่วยไข้เฉียดตายของตัวเองเมื่อ ๘ ปีก่อน ซึ่งเพื่อนร่วมงานบางคนก็เพิ่งได้รับรู้ผ่านงานเขียนของเธอนี่เอง

อีกคนเขียนเล่าถึงวันสำคัญในชีวิต วันเกิดปีหนึ่งของเธอคุณย่าลาจากโลกไปในโรงพยาบาล พร้อมกับที่เธอได้เห็นการลืมตามาดูโลกของเด็กอีกคน ผู้เขียนนำเอา ๓ เหตุการณ์ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าเชื่อมโยงกันอย่างมีมิติ และมีชั้นเชิงวรรณศิลป์

เป็นการอบรมระยะสั้นที่ย่นย่อหลักสูตร ๓ วัน ให้จบในวันเดียว  ได้เนื้อหาและเนื้องานพอสังเขปตามเงื่อนเวลา

จากนั้นก็ได้แต่หวังใจและยุยงส่งเสริมให้ไปเขียนต่อจนเสร็จเป็นเล่ม

เป็นหนังสือส่วนตัวที่เจ้าตัวจะได้อ่าน ก่อนเผยแพร่วงกว้างในงานศพตัวเอง

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ