ปาฐกถาในงานร้อยวันสึนามิ ที่เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๘
ตามประเพณีไทย เมื่อคนที่เรารักได้จากไปครบ ๑๐๐ วัน เราก็จะมาร่วมพบปะกัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไป อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจสำหรับผู้ที่ยังอยู่ เพราะว่าผู้ที่ยังอยู่นั้นอาจยังมีความเศร้าโศกอยู่ วิธีหนึ่งในการเยียวยาจิตใจให้แก่ผู้ที่ยังอยู่ก็คือการทำให้เหตุการณ์ความสูญเสียนั้นมีความหมายสำหรับเขา ทำให้รู้สึกว่าผู้ที่จากไปนั้นเขาจากไปอย่างมีคุณค่าและมีความหมายสำหรับเราผู้ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าหากทำเช่นนี้ได้ ผู้ที่ยังอยู่ก็จะมีกำลังใจ สามารถก้าวเดินไปข้างหน้าต่อไปได้โดยที่ไม่จมอยู่กับอดีตหรือไม่ตกอยู่ในความทุกข์
คนเราจะสามารถก้าวไปข้างหน้า โดยทิ้งความสูญเสียเศร้าโศกไว้เบื้องหลัง ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง และนี้แหละคือเป็นประเด็นสำคัญของการจัดงานร้อยวันสึนามิ เราจะเดินไปข้างหน้าประการแรกเราต้องมีความหวัง ประการต่อมาคือมีกำลังใจ ประการสุดท้ายก็คือต้องมีการฟื้นฟู
ความหวังเป็นสิ่งสำคัญ นั่นคือความเชื่อว่าพรุ่งนี้ย่อมดีว่าวันนี้ และเราสามารถทำให้พรุ่งนี้ดีขึ้นได้ แต่ขณะเดียวกันเราต้องอาศัยกำลังใจจากมิตรสหายด้วย มิตรสหายจะช่วยให้เรามีเรี่ยวมีแรงก้าวเดินต่อไป อย่างไรก็ตามความหวังและกำลังใจนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ อีกด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของกายภาพซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่อาหาร ที่อยู่อาศัย รวมทั้งอาชีพ นี้เป็นเรื่องของการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ให้กลับคืนมา เป็นสิ่งที่หลายคนกำลังร่วมกันทำในหลายจุดทั่ว ๖ จังหวัด
ทีนี้ถ้าถามว่าการฟื้นฟูในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่นี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบคงไม่ได้อยู่ที่ว่ารอให้ใครเอาของมาให้เรา ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเสื้อผ้าก็ตาม สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะจากผู้ประสบภัยเอง ไม่มีใครที่จะสามารถดลบันดาลความปกติสุขให้กลับคืนมาได้โดยอาศัยอำนาจหรืออาศัยกำลังเงินจากเบื้องบนแต่อย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากคนทุกฝ่ายอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ พร้อมกันนั้นก็ต้องมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐานด้วย ความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร รวมถึงความยุติธรรมในด้านสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินหรือที่ทำกินเป็นเรื่องสำคัญมาก
อีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้ก็คือความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลจากพี่น้องในหลายๆ ส่วนของประเทศ ในช่วงที่เกิดเหตุและหลังจากนั้นต่อมาได้พิสูจน์ว่าความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้ผ่านมาร้อยวันแล้ว เครือข่ายของความเอื้ออาทรก็ยังสำคัญอยู่ เช่นเดียวกันการสร้างหลักประกันในด้านความยุติธรรมและการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม
มหันตภัยสึนามิ ในด้านหนึ่งมันทำให้เราสูญเสียและถอยหลัง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำเฉพาะหน้าก็คือการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา แต่อาตมาคิดว่าเราคงไม่ได้หวังแค่การฟื้นฟูให้กลับมาสู่ภาวะเดิมก่อนที่จะเกิดเหตุเท่านั้น เราน่าจะหวังต่อไปว่าเราสามารถที่จะทำให้ดีกว่านั้นได้ คือทำให้เจริญก้าวหน้ายิ่งไปกว่าเดิมก่อนที่จะประสบภัยสึนามิเสียอีก เรามีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้ากว่าเดิมได้เปรียบเสมือนต้นไม้ ซึ่งถูกไฟไหม้แล้วก็สามารถฟื้นกลับมา แต่ต้นไม้ไม่ได้หยุดแค่นั้น หากยังสามารถเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขากว้างกว่าเดิม แทงยอดสูงกว่าเดิม และหยั่งรากลึกกว่าเดิม กลายเป็นเป็นต้นที่ใหญ่และเข้มแข็งกว่าเดิม หรือถ้าเปรียบเหมือนธง ก็ต้องเป็นธงผืนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม มันเป็นไปได้และควรเป็นความหวังของเราด้วย มีหลายที่หลายแห่งที่เมื่อประสบหายนะภัย ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ไฟไหม้ใหญ่ หรือเจอภัยสงครามแล้ว เขาสามารถที่จะฟื้นฟูตนเอง ไม่ใช่เท่าเดิมเท่านั้น แต่สามารถเจริญก้าวหน้ากว่าเดิมได้
อาตมาคิดว่าตรงนี้น่าจะทำให้เราตระหนักว่าท่ามกลางความสูญเสียหรือหายนะภัยนั้น มันมีโอกาสที่เราจะเติบใหญ่ขึ้นมาได้ รวมทั้งสามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย เหตุการณ์สึนามิแม้ว่าจะนำความหายนะขนานใหญ่มาสู่เรา แต่อาตมาเชื่อว่าหากเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติโดยมีความรู้เท่าทันในธรรมชาติ มีความร่วมมือกัน และมีเทคโนโลยีช่วยด้วย เรามีโอกาสที่จะอยู่ร่วมกับสึนามิได้อย่างปลอดภัย อย่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อร้อยปีก่อน คือปี ๒๔๓๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีคนตายเพราะสึนามิ ถึง ๒๒,๐๐๐ คน แต่พอผ่านมาไม่ถึงร้อยปี ปี ๒๕๐๓ คนตายเหลือ ๑๔๒ คน จนกระทั่งเมื่อสิบปีที่แล้วนี้เอง คือปี ๒๕๓๗ ยอดคนตายเหลือแค่ ๓ คน การที่ยอดคนตายลดลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ แต่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกัน และแน่นอนเกิดจากการได้สรุปบทเรียน โดยมีเทคโนโลยีมาช่วยเสริม ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ แม้ว่าธรรมชาติบางครั้งจะพิโรธโกรธเกรี้ยวก็ตาม
ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงเชื่อว่า ชุมชนทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ สามารถเติบใหญ่และก้าวหน้ายิ่งกว่าเดิม แต่จะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความอดทน ความเข้มแข็ง ความร่วมมืออย่างเป็นเครือข่าย และที่สำคัญอีกประการก็คือสติปัญญา สติปัญญาจะได้มาก็จากการที่เราสรุปบทเรียนและแสวงหาความหมายจากเหตุการณ์นี้ได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น
อาตมาคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มันให้ความหมายกับเราหลายอย่าง ช่วยให้เราเรียนรู้ได้หลายอย่าง อย่างแรกที่เห็นได้ชัดก็คือ ชีวิตเป็นสิ่งเปราะบางมาก และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แม้ว่าจะอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี แม้ว่าจะอยู่ในสถานที่ที่ดูเหมือนจะปลอดจากภัยธรรมชาติ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเหมือนสวรรค์ เต็มไปด้วยรีสอร์ต หรือโรงแรมริมชายหาด แม้ว่าอากาศสดใส ทะเลสวย ฟ้าโปร่ง แต่ว่าความตายก็สามารถจะจู่โจมได้ฉับพลันโดยที่เราไม่สามารถล่วงรู้หรือหลบหลีกได้ทัน ชีวิตนั้นเปราะบางหาความแน่นอนไม่ได้ สึนามิได้ให้บทเรียนและเตือนใจให้เราไม่รู้จักไม่ประมาท มีความระแวดระวัง ไม่ตายใจว่าภัยที่ไม่เคยเกิดไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิดไปตลอด มันอาจจะเกิดวันนี้วันพรุ่งก็ได้ เพราะว่าธรรมชาติทั่วทั้งโลกกำลังวิปริตแปรปรวนมากขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น อาจจะเกิดรถไฟชนกัน รถแก๊สระเบิด ตึกถล่ม เมื่อไหร่ก็ได้ ภัยเหล่านี้ย้ำเตือนว่าชีวิตนั้นเปราะบางและหาความแน่นอนไม่ได้
ประการต่อมาคือ สึนามิได้พิสูจน์ว่ามนุษย์เรานี้ช่างเล็กกระจ้อยร่อยเหลือเกินเมื่ออยู่ต่อหน้าธรรมชาติ คลื่นที่ซัดสาดเข้ามานี้มีพลังมหาศาลอย่างที่เรานึกไม่ถึง ยิ่งกว่านั้นเราเคยคิดว่าเรารู้ดี สามารถคุมธรรมชาติได้ แต่ความจริงเราไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้อย่างที่เรานึก แม้แต่จะรู้ล่วงหน้าว่าเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ก็ไม่สามารถบอกได้ หากว่าเราไม่รู้จักธรรมชาติ แถมยังอยู่ผิดที่ผิดทาง เราก็อาจจะเผชิญกับหายนะภัยอย่างไม่มีทางที่จะหลบหลีกหรือป้องกันได้
บทเรียนประการที่ ๓ ซึ่งมีความสำคัญมากคือว่า ถึงที่สุดแล้วแทบจะไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งของเราได้นอกจากการช่วยเหลือกัน ตอนที่คลื่นยักษ์ถล่มเข้ามา รวยแค่ไหนก็ช่วยไม่ได้ ปริญญาก็ช่วยไม่ได้ เทคโนโลยีก็ช่วยไม่ได้ แต่สิ่งที่ช่วยชีวิตคนเป็นจำนวนมากก็คือน้ำใจและความเอื้ออาทรของเพื่อนมนุษย์ คนจำนวนไม่น้อยอาจต้องตายไปกับคลื่นหากไม่มีใครบางคนมาช่วยจับช่วยยึดเอาไว้ หลายคนรอดมาได้ก็เพราะว่าคนแปลกหน้ามาช่วยเอาไว้ คนเหล่านี้แท้ที่จริงไม่ใช่คนแปลกหน้าแต่เป็นเพื่อนที่เพิ่งรู้จักต่างหาก เหตุการณ์ดังกล่าวได้ชี้ชัดว่าถึงที่สุดแล้วความเอื้อเฟื้อและน้ำใจของเพื่อนมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่มาก และอาจเป็นสิ่งเดียวที่เราพึ่งพาได้ในยามคับขัน
เหตุการณ์สึนามิยังได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อมนุษย์เราร่วมมือกันแล้วจะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก เหตุการณ์สึนามิได้ทำให้เกิดคลื่นน้ำใจที่มโหฬารอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนทั่วทั้งโลก เฉพาะจำนวนเงินที่ได้บริจาคก็มากมายมหาศาลและสูงกว่าเงินบริจาคของรัฐบาลทั้งหลายรวมกันเสียอีก ถ้าไม่มีพลังจากประชาชนจากหลายประเทศจากหลายหมู่เหล่ามาช่วยกัน การเยียวยาฟื้นฟูจะยากกว่านี้และนานกว่านี้ คนคงตายกันมากกว่านี้ เหตุการณ์สึนามิยังได้บอกเราว่ามนุษย์นั้นสามารถที่จะมีน้ำใจต่อกันโดยข้ามพ้นเส้นแบ่งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือประเทศได้ ความร่วมมือของคนทั้งโลกอันนี้เป็นเรื่องที่ประทับใจผู้คนเป็นจำนวนมาก และทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นว่ามนุษย์เราสามารถร่วมมือกันทำสิ่งดีๆ ได้อีกมากมาย
อาตมาเชื่อว่า หากเราสามารถเรียนรู้ความหมาย ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิมาได้อย่างครอบคลุมและรอบด้านทั้งในด้านที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับมนุษย์ทั้งหลายที่ร่วมกันเป็นมนุษยชาติ รวมทั้งในด้านที่เกี่ยวกับชีวิตของเราแต่ละคน มันจะช่วยให้เราสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และสามารถขับเคลื่อนให้มนุษย์เราทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้มากมาย อย่างที่เราก็ได้พบมาแล้วจากเหตุการณ์สึนามิว่า มันทำให้หลายคนทำในสิ่งที่ตนไม่เคยทำมาก่อน เช่น ต้องมากู้ศพ ช่วยพลิกศพ อยู่กับกองศพนับร้อยๆ ทั้งๆ ที่เคยอยู่แต่กับสิ่งสวยๆ งามๆ
เหตุการณ์นี้ยังทำให้ นักเรียนอายุแค่ ๑๒ ในอินเดียต้องกลายมาเป็นครูสอนหนังสือด้วยความเต็มใจให้แก่เด็กๆ ที่ประสบภัยสึนามิ ทำให้พระเวียดนามในแคนาดาประกาศขายวัด เพื่อจะเอาเงินมาช่วยผู้ประสบภัยสึนามิในไทย อินโดนีเซียและลังกา ท่านให้เหตุผลว่าตอนที่ท่านและคนเวียดนามต้องหนีภัยคอมมิวนิสต์อพยพออกนอกประเทศมาทางเรือ ลำบากมากแต่ก็รอบมาได้เพราะความเอื้อเฟื้อเจือจานจากคนไทยและคนอินโดนีเซีย ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่คนไทย คนอินโดนีเซียลำบาก ท่านก็อยากจะช่วย แต่เมื่อไม่มีเงินก็เลยประกาศขายวัดเพื่อเอาเงินมาช่วย นี่คือตัวอย่างวีรกรรมจำนวนน้อยนิดที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้
เหตุการณ์สึนามิได้บอกเราว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะทำสิ่งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยทำได้มาก่อน นี่คือโอกาสแห่งการสร้างสรรค์ที่สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งดีงามมากมายจากเหตุการณ์ครั้งนี้รวมไปถึงเหตุการณ์ครั้งต่อๆ ไปด้วย ความร่วมมือและเอื้ออาทรเหล่านี้ อย่างที่เราทราบดีอยู่แล้วว่ามันมีพลังมาก ปัญหาคือว่าเราจะรักษาความร่วมมือและเครือข่ายแห่งความเอื้ออาทรนี้อย่างไร และจะขยับขยายให้มันกว้างขวางไปทั่วทั้งสังคมได้อย่างไร อาตมาคิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นท้าทายที่เราจะน่าจะคิดกันด้วยว่าไม่พียงแต่จะทำให้ ๖ จังหวัดภาคใต้ฟื้นฟูสู่ความปกติเท่านั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ ๖ จังหวัดภาคใต้เจริญก้าวหน้าหมือนธงผืนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมเท่านั้น แต่ว่ายังจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมไทยเกิดความเข้มแข็งในเรื่องของความเอื้ออาทร ทำให้เกิดเครือข่ายของอาสาสมัครที่แผ่คลุมไปทั้งประเทศโดยอาศัยเหตุการณ์สึนามิเป็นแรงบันดาลใจ
อาตมาคิดว่าเป็นไปได้ที่เหตุการณ์สึนามิจะเป็นจุดเปลี่ยนของจิตสำนึกทางสังคมโดยเฉพาะของคนรุ่นใหม่ เหมือนกับที่ ๓๒ ปีก่อนคนรุ่นใหม่ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา แล้วก็สามารถพลิกเปลี่ยนจิตสำนึก พัฒนามาสู่สำนึกทางด้านมนุษยธรรม สำนึกทางด้านสังคม รวมไปถึงสำนึกทางการเมือง เราอาจไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์อย่าง ๑๔ ตุลาเพื่อที่จะเปลี่ยนจิตสำนึกของคนเหมือน ๓๒ ปีก่อน เหตุการณ์สึนามิซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นก่อนอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เกิดความห่วงใยในความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ เกิดความห่วงใยต่อความเป็นไปในบ้านเมือง เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
บ่อยครั้งสำนึกในทางมนุษยธรรมหรือทางสังคมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความทุกข์มาขับเคลื่อน ความทุกข์ในแง่หนึ่งมันกระแทกใจให้เจ็บปวด แต่ในอีกแง่หนึ่งมันสามารถกระเทาะใจให้ความเห็นแก่ตัวหรือเปลือกที่แข็งกระด้างแตกออก เพื่อให้ความดีภายในได้หลั่งไหลออกมา อาตมาคิดว่าเหตุการณ์สึนามิได้กระเทาะใจคนจำนวนไม่น้อย ให้ความดีภายในได้พรูพรั่งหลั่งไหลออกมา แต่ทำอย่างไรเราจะสามารถทำให้ความดีนั้นได้หลั่งไหลอย่างต่อเนื่อง อันนี้เป็นการบ้านที่อยากฝากให้เราช่วยกันคิด
การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่มีความเข้มแข็งและมีความยั่งยืน เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ความดีของผู้คนหลั่งไหลได้ต่อเนื่อง และสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตสำนึกในหมู่ผู้คนได้ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องช่วยกันเปิดใจของผู้คนให้ได้เห็นและรับรู้ถึงความทุกข์ยากของผู้คน เมื่อรับรู้แล้วก็มีกิจกรรมหรือเครือข่ายที่จะสามารถเชื่อมโยงคนเหล่านี้ได้มารู้จักกัน ให้อาสาสมัครรู้จักกันเอง แล้วก็ให้อาสาสมัครได้รู้จักกับผู้ที่ทุกข์ยาก จากนั้นความร่วมมือที่จะทำสิ่งดีๆ จึงจะเกิดขึ้นได้ อาตมาสรุปเป็นขั้นตอนดังนี้ ๑) เปิดหน้าต่าง ๒) สร้างสะพาน ๓) สมานใจ คือถ้าเราสามารถเปิดการรับรู้ของผู้คนได้ อย่างเช่นการมีทีวีอันดามันนี่ก็เป็นโอกาสในการเปิดหน้าต่าง ให้ผู้คนในส่วนอื่นๆ ของประเทศได้รับรู้ถึงปัญหาของคนใน ๖ จังหวัดอันดามันภาคใต้ จากนั้นก็มีกิจกรรมหรือเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงให้คนเหล่านั้นได้มาเห็นสภาพความเป็นจริงและนำไปสู่การร่วมมือกัน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวก็จะเกิดขึ้นได้
อาตมาเชื่อว่าตรงนี้เองน่าจะเป็นความหวังและกำลังใจให้แก่พวกเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบภัยก็ดีเป็นอาสาสมัครก็ดี เป้าหมายของเราคงจะไม่ใช่เพียงแค่ความหวัง กำลังใจ และการฟื้นฟูอย่างที่เป็นคำขวัญของงานรำลึก ๑๐๐ วันนี้เท่านั้น แต่เราควรจะไปให้ยิ่งกว่านั้น คือว่านอกจากความหวังและกำลังใจแล้ว เราจะต้องเดินหน้าต่อไป หรือถ้าพูดให้หนักแน่นกว่านั้นก็คือต้องสู้ต่อไป แม้ว่าจะมีอุปสรรคปานใดก็ตาม