การพูดคุยเกี่ยวกับความตายเป็นเรื่องยาก เพราะแทบทุกวัฒนธรรมล้วนสอนให้รู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องน่ากลัว ควรปกปิดหลีกเลี่ยงและไม่ควรพูดถึง คนกลุ่มหนึ่งจึงคิดหาวิธีชวนผู้คนมาพูดคุยเรื่องชีวิตและความตายผ่านเครื่องมือง่ายๆ อย่างไพ่ ซึ่งประกอบด้วยคำถามเกี่ยวกับชีวิตและความตายที่เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่เรากลับไม่เคยได้ยินใครถามหรือชวนคุยมาก่อนเลย ไพ่ฉบับนี้จึงมีชื่อเรียกขานว่า “เกมไพ่ไขชีวิต”
ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการใช้ไพ่ชุดนี้หลายครั้ง ครั้งแรกตอนที่อยู่บนบ้านพักในหุบเขาอวตาร อุทยานจางเจียเจี้ย ประเทศจีน เย็นวันนั้นหมอกฝนหนาทึบมองเห็นสิ่งไกลออกไปไม่ถึงห้าเมตรฝนตกพรำๆ จึงหมดหวังที่จะเห็นวิวทิวทัศน์ สุดท้ายต้องยอมนอนอยู่ในห้องพัก “พี่สุ้ย” เพื่อนร่วมทางที่ถือว่าเป็น “ตัวแม่” ด้านการอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบเชิญชวนให้เล่นไพ่แล้วหยิบกระดาษแข็งตัดด้วยมือแปะกระดาษถ้อยคำที่ยังไม่สละสวยนัก เพราะแปลมาจากภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการทดสอบไพ่ภาคภาษาไทยไปด้วยในตัว
เราเล่นกันแบบเต็มรูปแบบของต้นตำรับ นั่นคือสร้างบรรยากาศที่สงบ มีคำถามอุ่นเครื่องว่ามีความกังวลหรือคาดหวังอะไรเกี่ยวกับไพ่นี้ จากนั้นก็สลับกันหยิบไพ่คนละใบและสลับกันตอบคำถามนั้น จบลงด้วยการพูดถึงความตั้งใจหรือการบ้านที่จะกลับไปทำให้แล้วเสร็จ ระยะเวลาเกือบสองชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว
คำถามสำคัญกว่าคำตอบ คำถามอันชาญฉลาดชวนให้ใคร่ครวญชีวิตได้อย่างลึกซึ้งและน่าทึ่งทั้งเรื่องเชิงกายภาพและจิตใจ เช่น คุณอยากให้จัดการกับศพของคุณอย่างไร, คุณต้องการแจ้งข่าวการตายของคุณบนเฟสบุคหรือไม่ เพราะเหตุใด, คุณจะไม่อนุญาตให้แพทย์สั่งอะไรบ้างในวันสุดท้ายของชีวิต (เช่นปั๊มหัวใจ, ใส่ท่ออาหาร, ยากระตุ้นหัวใจ) และถ้าคุณต้องตายในวันพรุ่งนี้ คุณจะจัดการทรัพย์สินของคุณอย่างไร
คำถามเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า แม้จะผ่านการปฏิบัติธรรมหลายสำนัก เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับความตายมานับไม่ถ้วน และอบรมเผชิญความตายอย่างสงบมาแล้ว แต่กลับไม่เคยใคร่ครวญหรือวางแผนเกี่ยวกับความตายของตัวเองอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อนเลย ผลก็คือหลงลืมเรื่องสำคัญที่เป็นประโยชน์สำหรับตัวเองและผู้อยู่เบื้องหลังไปอย่างน่าเสียดาย หลังเล่นไพ่ ผู้เขียนตั้งใจอธิษฐานว่าจะเริ่มต้นเขียนพินัยกรรมชีวิตที่มากกว่าพินัยกรรมทรัพย์สินอย่างที่คนส่วนใหญ่ทำกัน แต่ครอบคลุมถึงเอกสารเพื่อบอกกล่าวคนใกล้ชิดและบุคลากรทางการแพทย์ว่าเราอยากตายอย่างไรอีกด้วย
เกมไพ่ไขชีวิตช่วยสร้างความสัมพันธ์และเรียนรู้จากมุมมองความคิดและประสบการณ์ของเพื่อนร่วมวง ในค่ำคืนหลังการทำบุญเรียกขวัญให้คุณแม่วัยแปดสิบที่กำลังใจเสียกับข่าวร้ายว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟอกไต ระหว่างนั่งล้อมวงรอละครหลังข่าว ผู้เขียนได้โอกาสนำเสนอเกมไพ่ไขชีวิต โดยมีผู้เล่นหลากวัยหลากการศึกษา และเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสมานั่งล้อมวงกันเช่นนี้ ประกอบด้วยคุณแม่วัยเจ็ดสิบ คุณน้าวัยเจ็ดสิบ พี่สาววัยห้าสิบ ผู้เขียนและน้องชายวัยสี่สิบ และหลานสาววัยสิบขวบ
การเล่นเกมเต็มรูปแบบจะทำให้วงแตกเสียเปล่าๆ ผู้เขียนใช้วิธีบอกกติกาข้อเดียวคือเปิดไพ่แล้วให้ทุกคนตอบคำถาม คำถามแรกคือ “หากคุณป่วยในช่วงระยะสุดท้าย คุณต้องการให้หมอที่ดูแลคุณมุ่งเน้นไปที่เรื่องใดมากที่สุด เช่น การมีอายุยืนยาว คุณภาพในการมีชีวิตอยู่ ความสะดวกสบาย” แม้บางคนจะไม่สามารถกลั่นกรองคำตอบออกมาเป็นคำพูดได้หรือปฏิเสธที่จะตอบคำถาม แต่ภาษากายบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า ได้เกิดกระบวนการใคร่ครวญและมีคำตอบให้กับตัวเองแล้ว น้าสาววัยเจ็ดสิบส่ายหน้าปฏิเสธตอบคำถามดวงตารื้อน้ำตา เมื่ออีกคนตอบว่าถ้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็ไม่อยากยื้อต่อ คุณน้าก็พยักหน้าหงึกๆ เห็นด้วย
บางคำถามได้รับคำตอบที่คาดไม่ถึง และบางทีขัดแย้งกับสิ่งที่เราคิดว่าเขาควรเป็น คำถามที่ว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบุคคลที่เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจของคุณคืออะไร” คุณแม่ตอบว่าคุณงามความดีที่ทำมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เดาได้ พี่สาวที่การศึกษาไม่สูงนักทำงานหนักมาตลอดชีวิตและมีลูกหลายคนตอบว่าถึงลูกๆ จะโตและช่วยเหลือตัวเองได้แต่ไม่เคยคิดหวังพึ่งใคร ส่วนน้องชายที่เรียนจบปริญญาตอบว่าพึ่งลูก
ไม่จำเป็นต้องตั้งวงเล่นเป็นเรื่องเป็นราวก็ได้ผลสะเทือนเช่นกัน ครั้งหนึ่งขณะที่ผู้เขียนนอนเล่นที่ระเบียงบ้าน คุณแม่วัยแปดสิบหยิบไพ่ที่วางอยู่ข้างตัวมาเปิดเล่น แล้วสุ่มหยิบไพ่มาหนึ่งใบ คำถามคือ “เมื่อพูดถึง ‘ความเจ็บป่วยทางกาย’ คำแรกที่แว้บเข้ามาในหัวคุณคืออะไร” คำถามนี้ทำให้คุณแม่ย้อนกลับไปทบทวนชีวิตที่ผ่านมาชั่วครู่ แล้วบอกเล่าถึงความเจ็บปวดตอนคลอดลูก เปรียบเทียบกับความเจ็บปวดจากการการล้มขาหัก และความเจ็บปวดจากโรคเกาต์ในปัจจุบัน
บางครั้งคำถามอันเรียบง่ายก็ได้คำตอบที่ทำให้ผู้ฟังซาบซึ้งใจ เมื่อคุณแม่หยิบไพ่คำถาม “ช่วงเวลาไหนและสถานที่ใดที่คุณเคยเดินทางไปและใช้เวลาอยู่ที่นั่นแล้วคุณรู้สึกอบอุ่นสบายใจผ่อนคลายมากที่สุด” คุณแม่ตอบโดยไม่เสียเวลาคิดเลยว่า ที่บ้านหลังนี้นี่เอง เป็นคำตอบที่ผู้เขียนปลาบปลื้มตื้นตันใจยิ่งนักที่ทำให้บ้านเป็นที่ที่หญิงชราคนหนึ่งรู้สึกอบอุ่น สบายใจและผ่อนคลาย
ประสบการณ์สุดท้ายที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงคือ เมื่อครั้งที่ไปทำงานฝึกอบรมให้กับกลุ่มพยาบาลอาวุโสกลุ่มหนึ่ง ทางทีมงานนำเกมไพ่ไขชีวิตไปให้ยืมเล่นนอกเวลาฝึกอบรม เช้าวันรุ่งขึ้นหัวหน้าพยาบาลและเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่งเข้ามาบอกด้วยความซาบซึ้งว่า แม้จะเป็นพยาบาลมาจนใกล้เกษียณได้สัมผัสความตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่กลับไม่มีโอกาสใดเลยที่ทำให้พวกเธอได้ตั้งคำถามและใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตและความตายได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งเท่ากับการเล่มเกมไพ่ไขชีวิต
ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่เราแทบไม่เคยได้ยินใครถามหรือชวนคุยกันมาก่อนเลย
จากประสบการณ์ตรงข้างต้น ผู้เขียนประจักษ์ว่าเกมไพ่ไขชีวิตทำให้การพูดคุยเรื่องชีวิตและความตายเป็นเรื่องง่าย มิต่างอะไรกับการพูดคุยกับเพื่อนสนิท และช่วยเยียวยาจิตใจผู้เล่นพอๆ กับการเข้าหลักสูตรการเยียวยาดีๆ เลยทีเดียว จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะมีไว้สำหรับตัวเองและเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ ซึ่งจะเป็นของขวัญราคาย่อมเยาที่เลอค่านิรันดรยิ่งกว่าเพชรนิลจินดา เพราะคำถามเพียงคำถามเดียวอาจเปลี่ยนชีวิตของคนคนนั้นตลอดกาล
ติดต่อซื้อชุดของขวัญเกมไพ่ไขชีวิตได้ที่ เครือข่ายพุทธิกา และ กลุ่ม Peaceful Death
อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง