Mcmindfulness: การฝึกสติกับเสรีนิยมใหม่  

จักรกริช พวงแก้ว 22 มีนาคม 2018

การฝึกสติกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าถึงหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 32 พันล้านบาท) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงแอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดที่มีมากกว่า 1,300 แอพ หนังสือและคอร์สออนไลน์อีกมากมาย หากนับรวมทั่วโลกแล้วธุรกิจนี้มีมูลค่าถึงสามพันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 96,000ล้านบาท)

เราทราบกันดีว่า การฝึกสติเป็นแนวทางในการฝึกของศาสนาพุทธ เพื่อเฝ้าสังเกตและรู้เท่าทันอารมณ์และแบบแผนต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในใจเรา คนที่ฝึกสติจะได้คิดใคร่ครวญ เกิดความตระหนักรู้ และเท่าทันอารมณ์หรือนิสัยที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้หลงไปกลับจากสิ่งเร้าต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นความต้องการของตนจากโฆษณาชวนเชื่อ

การฝึกสติเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดในช่วงปี ค.ศ.1960 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมวัตถุนิยมกำลังเฟื่องฟู หากตอนนี้การฝึกสติกลับมีคุณค่าและได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจนน่าประหลาดใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เรื่องนี้กำลังแพร่หลาย เพราะแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) และเศรษฐศาสตร์แนวการใส่ใจข้อมูล (Attention Economy) ที่เกี่ยวเนื่องกันนี้ ทำให้เกิดบริษัทและสถาบันต่างๆ ขึ้นมากมายในระยะเวลาอันสั้น ที่พยายามดึงเวลาและความสนใจของเราไปยังสิ่งที่เขาต้องการเสนอขาย

Fe’lix Guattari นักกิจกรรมชาวฝรั่งเศสที่เป็นทั้งนักปราชญ์และนักจิตบำบัด ได้ตั้งข้อสังเกตถึงทุนนิยมร่วมสมัยที่เริ่มจากการกำหนดว่า “เราคิดว่าเราคือใคร” พลังของสื่อต่างๆ โฆษณา วิดีโอเกม ฮอลลีวูด และการเพิ่มขึ้นของสังคมออนไลน์ ล้วนส่งผลต่อการแสดงออกและความคิดของเรา และในทางกลับกัน มุมมองต่อตัวเองของเราก็มีส่วนในการสร้างสินค้าขึ้นมา

เราไม่ได้กลายเป็นเพียงผู้บริโภคในทางการตลาด แต่เรากลายเป็นเป้าหมายและยังเป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่ออัลกอรึทึ่ม  เทคโนโลยี และเครื่องมือทางการตลาดใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับรสนิยม อารมณ์ความรู้สึก และความพึงพอใจทางเพศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งเข้าระบบและวนเวียนอยู่ในแพลทฟอร์มที่พัฒนาโดย Facebook, Apple, Netflix และแม่ข่ายทางธุรกิจที่นำเอาความสนใจต่างๆ ของเรามาเป็นสินค้าในการซื้อขายกัน

เราได้ถูกนิยามให้วิถีชีวิตของเราคือผู้บริโภค (Consumer) จากเดิมที่เราเคยใช้ชีวิตสัมพันธ์กับธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เรากลับถูกกำหนดให้อยู่กับหน้าจอบนทางเลือกและรายการต่างๆ ที่ผู้เสนอขายทำมาให้เพียงเท่านั้น

เศรษฐศาสตร์แนวการใส่ใจข้อมูลที่อยู่รอบตัวเรานี้ ได้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเสพติด เปลี่ยวเหงา ซึมเศร้า หมางเมิน และถูกทำให้โดดเดี่ยว เพราะยิ่งเราถูกดูดเข้าสู่โลกเหล่านี้มากเท่าไร การใส่ใจและให้ความหมายต่อธรรมชาติ สังคม และผู้คนรอบข้างก็ยิ่งลดน้อยถอยลง

พลังของสื่อสังคมออนไลน์ ล้วนส่งผลต่อความคิดและการแสดงออกของเรา และในทางกลับกัน มุมมองที่เรามีต่อตัวเองก็มีส่วนในการสร้างสินค้าขึ้นมา

ในขณะที่การฝึกสติตามวิถีพุทธนั้นกำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะการฝึกสติแนวใหม่ (Mcmindfulness) หรือการฝึกในทางโลกที่ช่วยบำบัดและตอบสนองต่อวิถีเสรีนิยมใหม่และเศรษฐศาสตร์แนวการใส่ใจข้อมูล

เนื่องจากการฝึกสติวิธีนี้เข้ากันได้กับแนวคิดการดูแลตัวเองของเสรีนิยมใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อตัวเอง ซึ่งเป็นที่แพร่หลายทั่วไปรวมถึงในสถาบันเอกชน ยกตัวอย่างเช่น การฝึกสติเข้ามาช่วยในที่ทำงาน ด้วยการทำให้เราลดความกดดันจากการทำงาน และบางแห่งใช้ในการเตรียมตัวพนักงานเพื่อบรรเทาความเศร้าเสียใจ ในช่วงเวลาที่เขาได้รับข่าวว่าตนเองอาจต้องถูกปลดจากงาน

อย่างไรก็ตาม การฝึกสติวิถีพุทธเพื่อตอบสนองเสรีนิยมใหม่และเศรษฐศาสตร์แนวใส่ใจข้อมูลนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการปฏิบัติของแต่ละแนวทางเพื่อให้เข้ากับบริบท วิถีการใช้ชีวิต และประสบการณ์ของผู้ฝึกแต่ละคน  การฝึกสติที่ถูกต้องนั้นจะทำให้เราได้รับรู้ความทุกข์ที่เกิดขึ้น และหาหนทางในการแก้ความทุกข์นั้น


ที่มา: https://www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/healthy-living/mindfulness-sells-buddhist-meditation-teachings-neoliberalism-attention-economy-a8225676.html

จักรกริช พวงแก้ว

ผู้เขียน: จักรกริช พวงแก้ว

ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา