จากประสบการณ์ในฐานะผู้ทำงานด้านจิตบำบัด การเรียนรู้ตนเอง และสัมพันธภาพ ครั้งหนึ่งในการอบรมเรื่องครอบครัว ผู้เข้าอบรมหลายคนมีประเด็นคับข้องใจกับพ่อแม่วัยชรา เนื่องจากพฤติกรรมวัยชราที่ลูกหลานมองว่า “ไม่น่ารัก ก่อกวน เรื่องมาก เยอะ” สิ่งที่ลูกหลานเหล่านี้รับรู้มากๆ คือ พ่อแม่วัยชราพูดหรือฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจความเป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร เรียกร้องเอาแต่ใจ เมื่อเกิดปากเสียง ความขัดแย้ง พวกเขาก็ต่างร้าวรานและทุกข์ใจ
นักบำบัดซึ่งเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ได้ตั้งคำถามสำคัญถึงความคาดหวังที่ซ่อนอยู่ในใจของลูกหลาน ความคาดหวังถูกบอกกล่าวและต่างก็เป็นความปรารารถดีต่อพ่อแม่วัยชราของตนทั้งสิ้น รวมถึงเป็นความคาดหวังที่ต้องการความร่วมมือ ความเข้าใจในความยุ่งยาก เงื่อนไขชีวิตของลูกหลานในฐานะผู้ดูแล
หลังจากนั้น นักบำบัดก็ได้ให้ข้อมูล พร้อมกับถามไถ่คำถามถึงสภาพร่างกายและจิตใจของพ่อแม่วัยชราของพวกเขาว่า เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายและจิตใจของผู้สูงวัยเหล่านี้ สาระสำคัญคือ พ่อแม่วัยชราของพวกเขากำลังมีวันเวลาที่นับถอยหลัง และพวกเขาก็จะไม่สามารถมีสุขภาพแข็งแรงได้เช่นเมื่อก่อน ความคาดหวังที่ถูกบอกกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้น และไม่ว่าอย่างไรสิ่งนี้คือข้อเท็จจริง หนทางเดียวที่จะช่วยเราทุกคนได้คือ การยอมรับ
การยอมรับ ไม่ใช่การยอมจำนนที่ไร้ทางเลือกหรือถูกบังคับ การยอมรับคือ การมีความสามารถในการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการตอบสนองที่ต่างจากการต่อต้าน ความจริงที่ต้องยอมรับ และเราทุกคนจับต้องได้ง่ายและใกล้เคียงตัวเรามากที่สุดคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายใจของเรา เช่น อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดนึก ความเชื่อที่เรายึดถือ รวมถึงปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เรารับรู้และนำเข้ามามีความหมายเป็นประสบการณ์ในจิตใจ ประสบการณ์ในความหมายที่ว่า สิ่งที่เรารับรู้ ก่อเกิดความหมายในจิตใจ ในการตัดสินใจของเรา และเมื่อการยอมรับเกิดขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะตามมา
เราทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ต่างเคยมีประสบการณ์กับวัยเด็กของตนเอง แตกต่างกับวัยชราที่พวกเราไม่มีประสบการณ์ ทั้งตัวเราและพ่อแม่กำลังเดินทางไปสู่ประสบการณ์นั้น โดยเฉพาะพ่อแม่วัยชรา พวกเขากำลังประสบภาวะเสี่อม ชำรุดทรุดโทรม และพวกเขาก็รู้สึกกังวล กลัว และใจหายกับภาวะนี้
สำหรับลูกหลาน วัยชรายังเป็นสิ่งที่ห่างไกล แต่กับพ่อแม่วัยชรา ความเสื่อมทรุดนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกท่านแล้ว ความจริงที่ซ่อนอยู่คือ พ่อแม่ที่พวกเขาได้เคยรู้จัก ได้สัมผัส และใช้ชีวิตดีๆ ร่วมกันนั้นได้จากไปแล้ว พ่อแม่ที่พวกเขาได้สัมผัสตรงนี้ เป็นพ่อแม่ที่ต่างจากเดิมตรงที่ร่างกายกำลังทรุดโทรม ความคิดและความจำกำลังเสื่อมสภาพ และความสามารถในการช่วยเหลือตนเองก็น้อยลงเรื่อยๆ
พวกเขากำลังประสบภาวะเสี่อม ชำรุดทรุดโทรม และพวกเขาก็รู้สึกใจหายกับภาวะนี้
อ.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักเดินทางเพื่อค้นหาประสบการณ์ชีวิต “เดินสู่อิสรภาพ” ได้นำประสบการณ์ที่เคยดูแลญาติผู้สูงวัย มาเสนอเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างสัมพันธภาพกับพ่อแม่และญาติวัยชรา คือ
๑) ความแก่ชราและภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคภัย ทำให้ผู้สูงวัยเหล่านี้ไม่สามารถใช้เหตุผลได้เช่นเมื่อก่อน ความสามารถในการจดจำกำลังเสื่อมลงเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุข้อพิพาท การถกเถียงเพื่อชี้ถูกผิดในเชิงเหตุผลหลักการจึงไม่ก่อเกิดประโยชน์แต่อย่างใด สิ่งที่เชื่อมโยงท่านผู้สูงวัยเหล่านี้ได้ คือ การสื่อสารที่มุ่งหมายหัวใจแห่งความรัก ความปรารถนาดี เหมือนกับที่พ่อแม่ได้เคยให้ความรัก ความเอ็นดูกับตัวเรา โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผล หลักการ ความถูกผิดแต่อย่างใด
๒) เรามีหน้าที่เดินไปหาผู้สูงวัยผ่านโลกของความรู้สึกและจิตใจ เพราะโลกของเหตุผลและความคิดกำลังเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย แปลกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ และหากเราไม่เคลื่อนไปหาท่าน ระยะห่างระหว่างเรากับท่านก็จะถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
๓) ยามเมื่อเรารู้สึกไม่ดีกับตัวท่าน ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไร การขอร้องและบอกกล่าวด้วยความรู้สึก คือกุญแจของการสื่อสาร ขณะที่การต่อว่า การถกเถียง มุ่งแพ้ชนะ ถูกผิด มีแต่การผลักไสให้ทั้งสองฝ่ายห่างกันและบาดหมาง ทั้งนี้เราพึงดูแลจิตใจและความพร้อมของตนเองด้วย เพราะการมุ่งเปลี่ยนแปลงอีกฝ่ายจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ อีกทั้งเป็นไปได้ยาก
๔) ไม่ว่าเวลาผ่านไปอย่างไร เราอายุมากขึ้น มีบทบาทหน้าที่การงานอย่างไร เราก็ยังคงเป็นลูกหลานของพ่อแม่วัยชราเหล่านี้ ความรู้สึกนี้ไม่เคยแปรเปลี่ยน และความรักความเข้าใจ คือหัวใจการสื่อสาร
๕) ระลึกเสมอว่า พ่อแม่วัยชราของพวกเรากำลังเสื่อมทรุด พวกท่านกำลังตกใจ เสียใจ กังวลกับสภาพที่เกิดขึ้น และท่านก็ต้องการความเข้าใจ การสนับสนุน การโอบอุ้ม และความเคารพรักจากพวกเรา
พ่อแม่ที่พวกเขาได้เคยรู้จักและใช้ชีวิตดีๆ ร่วมกันนั้นได้จากไปแล้ว พ่อแม่ที่ได้สัมผัสตรงนี้ เป็นพ่อแม่ที่ร่างกายกำลังทรุดโทรม ความคิดและความจำกำลังเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ
ผู้เขียนมองว่า สิ่งที่พ่อแม่วัยชราต้องการแท้จริงคือ อาหารใจ สิ่งที่ช่วยชุบชูจิตใจของพวกท่านคือ ความรัก ความเข้าใจ ความเคารพ และการให้คุณค่า ความหมาย ความสำคัญกับตัวท่าน และท่านก็ต้องการจากพวกเราซึ่งเป็นลูกหลาน
ในอีกมุมมอง ความรักที่เรามีต่อพ่อแม่ดำรงอยู่เสมอ พร้อมกับส่วนลึก พวกเราหลายคนเกลียดกลัวความตายที่ซ่อนอยู่ในความแก่ชรา และเมื่อใดที่สัญญาณ คือ อาการของความแก่ชราแสดงตัว เช่น อาการหลงลืมที่ปรากฎมากขึ้น พฤติกรรมที่เอาแต่ใจ การเคลื่อนไหวที่เชื่อมช้า สติปัญญาที่เริ่มเลอะเลือน การไร้ความสามารถช่วยเหลือตนเอง ต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ปฏิกิริยาของลูกหลานที่ไม่เข้าใจภาวะวัยชราคือ หงุดหงิด โกรธ และนำไปสู่ความขัดแย้ง
สิ่งที่ อ.ประมวล เน้นย้ำคือ แท้จริงการมีผู้สูงวัยหรือพ่อแม่วัยชรา คือ โอกาสที่เราจะได้สัมผัสเรียนรู้ความจริงอันเป็นความงามของชีวิต คือ ร่างกาย จิตใจที่เสื่อมถอย ซึ่งเป็นโอกาสของการเตรียมพร้อมตนเองสู่วัยชรา พวกเรากำลังได้เดินทางไปสู่ประสบการณ์ของการลาจากและจบสิ้น เพื่อจากโลกนี้ เราจะเตรียมพร้อมตนเองอย่างไร
ดังนั้นเมื่อพ่อแม่วัยชรายังอยู่ในชีวิต ท่าทีสัมพันธภาพภายในครอบครัว จึงขึ้นกับการเลือกของเราว่า เราต้องการให้สัมพันธภาพเป็นไปอย่างไร สิ่งนี้เป็นความปรารถนาที่เราเลือกให้กับตนเองได้ และการเลือกนี้ต้องการความกล้าที่จะเอาชนะ ‘ความกลัวภาวะแก่ชราและความตาย’ ที่ซ่อนอยู่
ภาพประกอบ