เมล็ดพันธุ์แห่งกรุณา

ปรีดา เรืองวิชาธร 30 กรกฎาคม 2005

“กรุณา” ในความหมายง่ายที่สุดก็คือ ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ เป็นจิตใจที่คิดช่วยปลดเปลื้องความทุกข์เดือดร้อนของผู้อื่น จิตอันกรุณานั้นมักปรากฏในสถานการณ์ที่ผู้อื่นกำลังประสบความทุกข์  ในขณะที่เมตตานั้นคือ ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุข มักปรากฏในสถานการณ์ที่เห็นผู้อื่นอยู่ในภาวะที่เป็นปกติสุขดี ก็ปรารถนาจะเห็นเขาเป็นสุขยิ่งขึ้นกว่าเดิม

การโอบอุ้มช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในเหตุการณ์สึนามิ ทำให้สังคมเห็นได้ชัดว่า คนในสังคมสมัยใหม่ยังมีพลังแห่งกรุณาฝังลึกอยู่ในจิตใจเสมอ และพร้อมที่จะหลั่งไหลออกมาได้ไม่ยากหากได้เห็นความทุกข์เดือดร้อนเกิดขึ้นตรงหน้า เป็นการสัมผัสรับรู้อย่างปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ

เหตุการณ์นี้ได้ลดทอนความปักใจเชื่อของสังคมที่ว่า คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ล้วนเห็นแก่ตัว นึกถึงแต่ตัวเองจะได้อะไรก่อนโดยไม่ใส่ใจต่อความทุกข์เดือดร้อนของผู้อื่น  อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้รู้ว่าการเห็นภาพความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างปราศจากการบิดเบือนนั้น ทำให้เปลือกที่ห่อหุ้มความกรุณากะเทาะออกมาได้อย่างง่ายดาย

ทุกวันนี้ผมยังคงได้รับการตอกย้ำความเชื่อมั่นศรัทธาที่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์แห่งกรุณาในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่เรามีปัจจัยอันเป็นอุปสรรคมากมายห่อหุ้มรัศมีแห่งความกรุณา สังคมจึงดูเหมือนเต็มไปด้วยผู้คนที่คิดเห็นแก่ตัว บรรยากาศการช่วยเหลือเกื้อกูลกันค่อนข้างแห้งแล้ง  ที่เลวร้ายไปกว่านั้นสังคมยังเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรงเข่นฆ่ากันอย่างเหี้ยมโหด จนประตูแห่งความหวังว่ามนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยสันตินั้นได้ปิดสนิทลงแล้ว

ปัจจัยที่ห่อหุ้มหรือลดทอนความกรุณาของมนุษย์นั้น แบ่งได้ 2 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ ปัจจัยภายใน อันได้แก่ การยึดมั่นเอาสิ่งสมมุติมาเป็นความจริงแท้ จึงทำให้เกิดความยึดมั่นในทิฏฐิและมั่นหมายในความทะยานอยากทั้งหลาย โดยแสดงออกด้วยการเอารัดเอาเปรียบทำร้ายทำลายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันหรืออาจจะอันตรายมากกว่าก็คือ ปัจจัยภายนอก ซึ่งมาในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหรือกลไกทางสังคมรวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้มนุษย์เราแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย แบ่งขั้วความเชื่อหรือทิฏฐิอย่างยึดติดตายตัว หรือหนุนนำให้เรามุ่งเห็นแก่ตัว รวมถึงปิดหูปิดตาหรือบิดเบือนความจริงจนทำให้เราหลงเข้าใจผิดอย่างยากที่จะตั้งคำถามเพื่อค้นหาความจริง

โครงสร้างหรือกลไกทางสังคมที่ว่านี้มาในคราบของระบบการเมืองที่เต็มไปด้วยความสกปรก  ระบบเศรษกิจที่กระตุ้นให้เกิดความโลภ โกรธ หลง  ระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันและมุ่งรับใช้รัฐกับทุน  สื่อที่กระตุ้นความอยากของมนุษย์และมุ่งบิดเบือนความจริงเพื่อชี้นำให้คนเกลียดชังกัน  รูปแบบองค์กรที่จัดวางโครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจและเน้นให้คนแข่งขันช่วงชิงผลประโยชน์และตำแหน่ง  รวมไปถึงบรรยากาศการขับเคี่ยวแข่งขันทางธุรกิจ เป็นต้น

ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างของปัจจัยภายนอก อันเป็นอุปสรรคปิดกั้นความกรุณาของมนุษย์  ยิ่งหากชีวิตเราตกอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของปัจจัยเหล่านี้ ก็ยิ่งส่งผลให้แรงยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิและความอยากได้อยากเป็นซึ่งเป็นปัจจัยภายในทวีความเข้มข้น จนเราอาจรู้สึกได้ไม่ยากว่า คนในสังคมขาดศักยภาพที่จะรักกรุณาต่อกัน

มนุษย์ทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์แห่งกรุณาอยู่ในตัว เพียงแต่เรามีปัจจัยอันเป็นอุปสรรคมากมายห่อหุ้มรัศมีแห่งความกรุณานั้นไว้ สังคมจึงดูเหมือนเต็มไปด้วยผู้คนที่คิดเห็นแก่ตัว

ถึงแม้มนุษย์ทุกคนจะมีเมล็ดพันธุ์แห่งกรุณาอยู่แล้ว แต่ความกรุณาย่อมต้องการการกะเทาะเปลือกหุ้มพร้อมกับได้รับการรดน้ำพรวนดินอย่างสม่ำเสมอ เราจึงจะสามารถแสดงพลังแห่งกรุณาปรากฏออกมาให้เห็นได้

มีหลายคนเคยเชื่ออย่างสนิทใจว่า ตนมีจิตใจคับแคบเหมือนจะไร้ซึ่งความรักกรุณาต่อผู้อื่น แต่ก็ต้องอัศจรรย์ใจที่พบว่า ตัวเองก็มีประกายแห่งกรุณาปรากฏออกมาให้เห็น ก็เพราะพวกเขามีโอกาสได้รับฟังรับรู้ความทุกข์ยากของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นช่วงบรรยากาศที่พวกเขาไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของปัจจัยภายนอก  ความพร้อมที่จะรับฟังรับรู้อย่างลึกซึ้งจึงเกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ  ความเงียบสงัดของจิตที่ไร้ม่านบดบังของกิเลส ทำให้เสียงแห่งความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์มากะเทาะเปลือกเมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณา เป็นสภาวะที่เหมือนตื่นจากการหลับใหล

ความปลื้มปิติได้หลั่งไหลเอ่อท้นออกมาเป็นระยะๆ ตลอดการรับฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นปิติที่มาจากความเห็นอกเห็นใจ อยากเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ซึ่งต่างจากปิติที่มาจากการสมหวังของการอยากได้อยากเอาอยากเป็น  บางคนเพียงได้สัมผัสรอยยิ้มทั้งน้ำตาของผู้ที่กำลังได้รับความทุกข์ยาก ก็ทำให้หัวใจที่เคยคับแคบหยาบกระด้างเกิดการสั่นไหวอ่อนโยนลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ในขณะที่อีกหลายคนได้ค้นพบเมล็ดพันธุ์แห่งกรุณา ด้วยการเข้าไปสัมผัสรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น  ดังเช่น การอาสาไปช่วยผู้ประสบภัยจากสึนามิ  การเข้าไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านชาวเขาที่ทุกข์ยาก  การลงไปฟังเสียงสะท้อนจากใจของชาวบ้านสามจังหวัดภาคใต้  และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น  พวกเขาถึงกับปรารภออกมาว่า เป็นการเดินทางเพื่อการเติบโตทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตเลยทีเดียว  ประสบการณ์เหล่านี้ได้ทำให้หลายคนกลับมาทบทวนการใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ว่า ชีวิตที่เหลืออยู่จากนี้ไปจะทำให้มีคุณค่าความหมายต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างไร แทนที่จะต้องเดินอย่างเซื่องๆ ไปตามสายพานที่สังคมแบบนี้กำหนดให้

จากประสบการณ์ของผู้ที่กำลังรดน้ำพรวนดินเมล็ดพันธุ์แห่งกรุณาได้สะท้อนบอกว่า การฝึกฝนศักยภาพที่จะรักกรุณาผู้อื่นได้นั้น  หัวใจอยู่ที่การสัมผัสรับรู้อย่างลึกซึ้งปราศจากเงื่อนไข และแสดงออกมาจากหัวใจ  โดยเราต้องมีสติรู้เท่าทันกิเลสวาสนาภายใน รู้เท่าทันโครงสร้างหรือกลไกทางสังคมที่เป็นปัจจัยภายนอก และหลายครั้งควรหลีกเลี่ยงให้ไกลจากอิทธิพลของโครงสร้างสังคมที่ทำให้เราเห็นแก่ตัวและเน้นการใช้ความรุนแรง  แต่จะดีกว่านี้หากทุกคนร่วมมือกันปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นไปเพื่อความเกื้อกูลงอกงามของเมล็ดพันธุ์แห่งกรุณาในสังคม  ก็เพราะโลกของเรายามนี้ต้องการพลังแห่งกรุณาอย่างยิ่งเพื่อมาสร้างสรรค์เยียวยาให้น่าอยู่กว่านี้มิใช่หรือ ซึ่งเราทุกคนสามารถเริ่มต้นได้เลย ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน