ยามเช้าของวันนั้น มวลเมฆสีเทาลอยกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ มีฟ้าสีฟ้าเป็นฉากหลัง ตะวันทอแสงลอดผ่านกลุ่มเมฆเรื่อเรือง ก่อนที่จะถูกบดบังไปในยามเที่ยง แทบทุกตารางเมตรภายในบริเวณวัดภูเขาทอง คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาจากทั่วสารทิศ ต่างเหตุต่างกรรม แต่ในวาระเดียวกัน คือ งานละสังขารของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
คงมีผู้คนไม่น้อยที่มาด้วยความเคารพศรัทธาในจริยวัตรและคำสอนของท่าน และถึงแม้จะไม่ได้มาปรากฏตัวในงานวันนั้นก็ระลึกถึงและน้อมนำคำสอนของท่านเข้ามาสู่การดำเนินชีวิต
อิทธิพลที่ครูมีต่อเราคงไม่ได้ขึ้นกับรูปแบบการสอนที่ดีที่พวกเขาสอนเรา… แต่พลังของพวกเขาอยู่ที่ความสามารถในการปลุกความจริงบางอย่างในตัวเรา เป็นความจริงที่หลายปีผ่านไปเราก็ยังสามารถเรียกคืนมาได้ด้วยการระลึกถึงผลกระทบที่พวกเขามีต่อชีวิตเรา
ถ้อยคำของ ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์ ในหนังสือ กล้าที่จะสอน คือคำอธิบายเหตุปัจจัยที่ว่านั้นได้ใกล้เคียงที่สุด
คำสอน (ความรู้หรือปัญญา) กับตัวครูผู้สอน เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ที่สำคัญ สำคัญมากกว่ารูปแบบหรือวิธีการ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า รูปแบบหรือวิธีการต่างๆ นั้นคือการเผยแสดงของอัตลักษณ์ของครูที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หมายความว่า ครูจะต้องรู้จักและเข้าใจตัวตนของตัวเองอย่างถ่องแท้ อีกทั้งยังต้องรู้จักและเข้าใจบทเรียนที่จะทำการสอน รู้จักและเข้าใจผู้เรียน แล้วบูรณาการองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านนี้ในรูปแบบของข่ายใยที่มีชีวิต
ในห้วงเวลานี้ ระบบการศึกษาของประเทศถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างแพร่หลายในแทบทุกภาคส่วน และคล้ายว่าจะจริงจังกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาไทย นับว่าเป็นโอกาสอันดี (แม้ว่าจะเกิดขึ้นค่อนข้างช้าก็ตาม) ทุกฝ่ายจะได้หันกลับมาทบทวนตัวเองอย่างจริงจังและซื่อตรงมากขึ้น
ที่ผ่านมาการจัดการศึกษาในบ้านเมืองเราอุปมาคล้ายกับผ้าผืนใหญ่ที่มีรูโหว่มากมาย ผู้บริหารที่หมุนเวียนเข้ามาแต่ละยุคสมัยก็ได้นำผ้าสีสันต่างๆ มาปะชุน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง ตามแต่ทัศนคติและความสามารถของท่านผู้นำ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ก็ทำไปตามหน้าที่ที่ต้องทำตามผู้บังคับบัญชา ในขณะที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างเช่น ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน พระ/นักบวช องค์กรสื่อ ฯลฯ แทบไม่มีบทบาทในกระบวนการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มที่มีหรือเคยมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้คนทุกระดับ
อย่างไรก็ตาม การก้าวเดินไปข้างหน้า หากมัวแต่โทษว่าขาซ้ายไม่ดี ขาขวาไม่มีแรง สายตาก็พร่ามัว ถนนหรือก็ขรุขระวกวน เราคงไปไม่ถึงไหน หรืออาจจะเพียงแต่ย่ำอยู่กับที่ แล้วหลงผิดคิดว่ามาได้ไกลโข นี่เป็นความคิดที่อันตรายมาก ดังนั้น การจะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงนั้น เราควรเริ่มจากการกลับมาทำความรู้จักและเข้าใจตัวเราเองก่อน รู้จักความเป็นเรา รากเหง้าของเรา ต้นทุนที่มีที่เป็น แม้หลักคิดทฤษฎีต่างๆ ที่เป็นสากลก็ล้วนมีรากเหง้าที่มาและมีบริบทประกอบด้วยกันทั้งนั้น
ในทางพุทธศาสนามีคำอธิบายหลักคิดเกี่ยวกับการศึกษาที่ลึกซึ้งและครอบคลุม คือ หลักสิกขา หรือที่เราเรียกว่าตามความคุ้นเคยว่าไตรสิกขานั่นเอง
โดยคำว่าสิกขาหรือศึกษานั้น พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ การศึกษา ฉบับง่าย ว่าการศึกษาคือการที่จะทำให้ชีวิตเป็นอยู่ได้อย่างดี ซึ่งหมายความว่านักศึกษาหรือผู้เรียนจะต้องผ่านการฝึกตัวเองทั้งทางกาย วาจา ใจ เพื่อพัฒนาชีวิตตัวเองให้มีความสามารถปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ ให้ได้ผลดีที่สุด ดังนั้น การศึกษาจึงมีลักษณะเป็นกระบวนการที่จะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และตลอดชีวิต ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกระดับจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับชีวิตอยู่เสมอ
ด้วยเหตุนี้ การจัดกระบวนการเรียนรู้จึงควรคำนึงถึงกระบวนการของชีวิตทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ พฤติกรรม (ศีล) คือการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดีมีความผาสุก อีกด้านหนึ่งคือ จิตใจ (สมาธิ) หมายถึงการมีแรงจูงใจหรือสภาพจิตใจที่ดี มีความสุข ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออก และสุดท้าย คือ ปัญญา การคิดพิจารณา การเห็น การรับรู้ และเข้าใจสถานการณ์ตามที่เป็นจริง
น่าเสียดายที่ผ่านมา เราได้รับอิทธิพลการศึกษาแบบลดทอนแยกส่วนจากฝั่งตะวันตกมาอย่างยาวนาน เราจึงได้รับการหล่อหลอมความรู้แบบแยกเป็นส่วนๆ ตามรายวิชา เมื่อเด็กอ่อนด้อยในด้านใดก็โหมความช่วยเหลือไปด้านนั้นเป็นครั้งคราวไป แม้จะมีแนวความคิดเกี่ยวกับการบูรณาการเข้ามาในช่วงหลัง แต่ก็ยังเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุดเสียทีเดียว
คำสอน (ความรู้หรือปัญญา) กับตัวครูผู้สอน เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ที่สำคัญ สำคัญมากกว่ารูปแบบหรือวิธีการ
ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเมื่อไม่นานมานี้ปรากฏว่า สิ่งที่ประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปเป็นอันดับแรก คือ คุณภาพการศึกษา สะท้อนให้เห็นว่านี่คือวิกฤตทางการศึกษาที่ไม่อาจปกปิดบิดเบือนได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทำความเข้าใจปัญหาการศึกษาและหาทางออกที่ถูกทิศถูกทางเสียที
หากถามว่า การปฏิรูปการศึกษาควรเริ่มจากตรงไหน?
คำตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือ เริ่มที่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่มีต่อการศึกษาทั้งระบบ
กลับมาตั้งต้นที่ฐานรากของเราเอง กำหนดเป้าหมายทางการศึกษาให้แจ่มชัดและสอดคล้องกับบริบทชีวิต และเลิกทำตามทฤษฎีต่างๆ เป็นสรณะโดยไม่รู้ที่มาที่ไป และไม่รู้จักตัวเอง
เรามีผู้บริหารการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ มีครูที่ดีมีความรู้และศักยภาพในด้านการจัดการเรียนการสอนอยู่มากมาย มีผู้ปกครองที่มีความปรารถนาดีต่อบุตรหลาน แต่สิ่งที่เรายังมีน้อยคือ หัวใจของการศึกษา การสร้างการเรียนรู้ที่มีชีวิตครบทั้ง 3 ด้านยังคงเป็นสิ่งที่ขาดแคลน
นี่ไม่ใช่แค่ข้อเสนอที่มีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเราท่านทุกคนที่อยู่ทั้งนอกและในระบบการศึกษาอีกด้วย เพราะการศึกษาคือการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถที่จะ เป็น และ อยู่ ได้อย่างดี หมายถึงการฝึกฝนตนเองอยู่ตลอดเวลาไปจนตลอดชีวิต
ณ วันนี้ผ่านงานละสังขารหลวงพ่อคำเขียนมาแล้วหนึ่งสัปดาห์ (กันยายน 2557) ชีวิตของศิษยานุศิษย์ยังคงดำเนินไปตามปกติ ไม่ต่างจากยามที่ท่านยังคงมีชีวิตอยู่ จริยวัตรและคำสอนของท่านยังคงดำเนินไปในวิถีของการฝึกฝนตนเองของศิษย์ตามกำลัง นี่ไม่ใช่คำสั่งหรือข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีระหว่างครูกับศิษย์ แต่คือสิกขาที่ศิษย์ได้เรียนรู้จากครูอย่างรอบด้านนั่นเอง