ความตายของโรบิน วิลเลี่ยมส์

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 17 สิงหาคม 2014

ความตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความตายของคนดังมักเป็นข่าวใหญ่ เช่นเดียวกับการตายของโรบิน วิลเลี่ยมส์ ดาราเจ้าบทบาททั้งกล้าหาญตลกและเศร้าเคล้าน้ำตา ที่อยู่ในดวงใจของคนวัยสี่สิบขึ้นไปทั่วโลก

ความตายของเขาดูเหมือนเป็นตลกร้าย ไม่มีใครนึกว่าคนที่เล่นหนังตลกชั้นครูอย่างมิสซิสเดาท์ไฟร์ (Mrs. Doubtfire) และเล่นหนังเป็นครูที่กระตุ้นให้เด็กหนุ่มนักเรียนประจำลุกขึ้นมาทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงในเรื่อง ครูครับผมจะสู้เพื่อฝัน (Dead Poets Society) กลับเผชิญกับปัญหาติดเหล้าและโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด

นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ ในทางสถิติคนดังและนักแสดงไม่น้อยพบกับปัญหายาเสพติดและการฆ่าตัวตาย ผู้เขียนมักรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งที่คนดังมีอันต้องจบชีวิตลงในลักษณะนี้ ขณะเดียวกันเหตุการณ์เช่นนี้ก็เตือนให้เราตระหนักอยู่เสมอว่า ความสุขที่แท้คือสุขจากภายใน คือการวางตัววางใจให้ยอมรับความเป็นจริงของชีวิต มิใช่ความสุขจากภายนอกคือลาภยศสรรเสริญ  สำหรับดาราดังลาภยศสรรเสริญได้มาง่ายและมากเกินไปและสูญเสียมันไปง่ายพอกัน เมื่อจัดวางสมดุลในชีวิตไม่ได้ หรือทำใจกับความสูญเสียไม่ได้ จะพบกับความรู้สึกว่างเปล่าโดดเดี่ยวหรือเจ็บปวดจนไม่อาจทนอยู่กับตัวเองได้

โรบิน วิลเลี่ยมส์ ในภาพยนตร์ Dead Poets Society

ผู้เขียนเห็นว่าอุทาหรณ์สำคัญจากกรณีของ โรบิน วิลเลี่ยม ที่ทิ้งไว้ให้กับคนที่ยังอยู่เบื้องหลัง มิใช่บทบาทการแสดง หากแต่คือข้อเตือนใจที่ว่าเรามักมองคนดังคนเก่งว่าเป็น “เทพ” “ฮีโร่” หรือคำที่คนยุคนี้ชอบพูดว่า “role model” โดยลืมคิดไปว่าคนเหล่านี้คือมนุษย์เหมือนเรา ที่ชื่อเสียง ทรัพย์สิน เงินทอง มิอาจเยียวยาความเจ็บปวดภายในหรือเติมเต็มจิตใจได้ หรือการสูญเสียลาภยศสรรเสริฐก็เป็นเรื่องหนักหนาเกินจะรับไหว และเมื่อคนคนนั้นต้องเผชิญหน้ากับภาวะดังกล่าว สิ่งที่เขาต้องการที่สุดก็คือความช่วยเหลือ แต่กลับไม่มีใครได้ยินหรือรับฟังความทุกข์ในใจของเขาเลย

โรบิน วิลเลี่ยมส์เคยส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือหลายครั้ง โดยการสัมภาษณ์รายการวิทยุเมื่อสิบปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เขาตัดสินใจเข้ารับการบำบัดการติดเหล้าครั้งแรก แล้วกลับไปติดเหล้าอีก และกลับไปเข้าสถานบำบัดอีกครั้งก่อนการเสียชีวิตเพียงสัปดาห์เดียว

“บางครั้งผมก็ดูบ้าบอใช่มั้ย? ใช่  ผมเป็นคนบ้าบอตลอดเวลาใช่มั้ย? ไม่ใช่  ผมเศร้าใช่มั้ย? ใช่  แล้ว (ความเศร้า) มันทำร้ายผมมากเลยใช่มั้ย? ใช่”

“มีเสียงหนึ่งคิดว่า…เธอกำลังยืนอยู่บนหน้าผาแล้วมองลงไปเบื้องล่าง แล้วก็มีเสียงหนึ่งที่เบากว่ากระซิบบอกว่า กระโดดสิ”

เมื่อคนคนนั้นต้องเผชิญกับความเจ็บปวดภายในใจ สิ่งที่เขาต้องการที่สุดก็คือความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

เราอาจคิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องไกลตัว แต่องค์การอนามัยโลกประเมินว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า (ปี 2563) โรคซึมเศร้าจะเป็นโรคอันดับสองที่คร่าชีวิตพลเมืองโลก รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจ และปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากร  ทุก 1.30 ชั่วโมงจะมีคนไทย 1 คนฆ่าตัวตาย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรคซึมเศร้า

ลองสังเกตตัวเองหรือหันมองดูคนรอบตัวว่า พบสัญญาณของโรคซึมเศร้าบ้างหรือไม่ คุณมีคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานสักคนหรือไม่ที่มักหัวเราะเสียงดังลั่นเมื่อเจอเรื่องหนักหนาสาหัส ลองถามตัวเองว่าถ้าเป็นเราหรือคนธรรมดาทั่วไป หากเจอเรื่องหนักหนาแบบนั้นจะยังหัวเราะออกหรือไม่ และถามลึกลงไปอีกว่า เสียงหัวเราะของเขาคือการกลบเกลื่อนความเจ็บปวดในใจใช่หรือไม่

หากคำตอบคือใช่ โปรดใส่ใจเขามากขึ้น อย่าทอดทิ้งให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวอยู่เพียงลำพัง

สัญญาณบ่งบอกอาการโรคซึมเศร้าอื่นๆ เช่น

เมื่อปีที่แล้วเควิน บรีล (Kevin Breel) เด็กหนุ่มวัย 19 ปี กัปตันทีมบาสเกตบอล นักเขียนการ์ตูน และดาวเด่นในโรงเรียนลุกขึ้นมาเล่าประสบการณ์ในเวทีปาฐกถา TED Talks เรื่อง “คำสารภาพของนักเขียนการ์ตูนผู้ซึมเศร้า” ว่าเด็กหนุ่มที่ดูสมบูรณ์แบบอย่างเขาเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่อายุ 13 ปี และเมื่อสองปีที่แล้วเขาเตรียมฆ่าตัวตาย แต่รอดมาได้

เขาบอกว่าขณะที่คนทั่วไปคิดว่าคนเราจะเศร้าเมื่อชีวิตไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง เช่น อกหัก ตกงาน หย่าร้าง แต่สำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้าจะเศร้าได้ทุกที่ทุกเวลา แต่สังคมมักเพิกเฉยหรือพิพากษาคนเหล่านี้ จนทำให้เขาต้องกลบเกลื่อนความเศร้า และถูกผลักไปอยู่ในมุมที่เขาเห็นว่ามีทางออกเดียวคือความตาย

แพทย์สมัยใหม่บอกว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคจิต โรคประสาท แต่เป็นโรคทางอารมณ์ที่รักษาหายได้เมื่อรับยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจ  คำว่าการรักษาทางจิตใจฟังดูง่ายแต่ทำยาก เพราะเป็นคำนามธรรม เควินบอกเล่าจากประสบการณ์ของตัวเองว่า เขาผ่านพ้นมาได้ด้วยการฝึกยอมรับและรักตัวเองในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ใช่ในสิ่งที่คนรอบข้างหรือสังคมคาดหวัง

ส่วนวิธีช่วยคนเหล่านี้คือ ก่อนการคิดว่าจะพูดหรือวางท่าทางอย่างไร ขอให้คิดว่าจะช่วยเหลือด้วยความเมตตาและเข้าใจ จากนั้นทำให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวและยังเป็นที่รักของคุณ อาจเป็นการชวนพูดคุยว่า “เธอเป็นอย่างไงบ้าง” “ยังโอเคอยู่มั้ย” แม้ตอนแรกเขาจะไม่ได้ยินสิ่งที่คุณพูด แต่เขาจะรู้ว่าคุณอยู่ตรงนั้น มีคนคอยรับฟังและใส่ใจดูแล

…แล้วเขาจะอยู่กับคุณต่อไป

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง