การปฎิบัติต่อคนใกล้ตาย และการเตรียมตัวตายในแบบล้านนา

สมเกียรติ มีธรรม 11 ธันวาคม 2004

ในงานวิจัยของผู้เขียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยการจัดการทางสังคมภาคเหนือ ได้ทำการศึกษาโลกทัศน์ชาวบ้านล้านนาในปัจจุบัน เพื่อต้องการทราบถึงโลกทัศน์ชาวบ้านล้านนาว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ และเป็นหัวข้อย่อยอยู่ในงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งนั้นก็คือเรื่องความตาย

ความตายในทัศนะของชาวบ้านล้านนา ผมไม่แน่ใจว่าแตกต่างไปจากทัศนะของชาวบ้านในภูมิภาคอื่นหรือไม่ ที่มองความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก และมองความตายว่าเป็นการสืบต่อแห่งชีวิต แต่ถ้าพิจารณาตามถ้อยคำสั้นๆ เหล่านี้ ก็ดูจะมีความคล้ายคลึงกันกับภูมิภาคอื่นอยู่บ้าง ถ้าหากลงไปในรายละเอียดแล้ว ผมคิดว่าคงจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะวิธีปฏิบัติต่อคนใกล้ตาย และการเตรียมตัวตายของชาวบ้านในแต่ละถิ่นแต่ละที่

ในหมู่บ้านต่างๆ ทางล้านนานั้น คนเฒ่าคนแก่ดูจะมีวิธีปฏิบัติต่อคนใกล้ตาย และมีการเตรียมตัวตายได้อย่างแยบยลจนเราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว เป็นแต่ว่าวิธีปฏิบัติต่อคนใกล้ตายและวิธีการเตรียมตัวตายของชาวบ้าน ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความตายคล้ายกับทางฝ่ายธิเบตเท่านั้น แต่ถ้าลงไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านจริงๆ เราก็จะเห็นทัศนะของชาวบ้านต่อความตายดังกล่าวไว้ข้างต้น ไปจนถึงวิธีปฏิบัติต่อคนใกล้ตาย และการเตรียมตัวตายได้ชัดเจนขึ้น

ความตายในทัศนะของชาวบ้านล้านนาดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มีที่มาอยู่สองทางด้วยกันคือ มาจากความเชื่อในพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง และการดำเนินชีวิตที่ต้องพึ่งพิงกับธรรมชาติอีกทางหนึ่ง สำหรับความเชื่อในพระพุทธศาสนา หลายท่านคงจะรู้กันมาบ้างแล้วว่า พระพุทธศาสนามองความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงได้ และยังเชื่อว่ามีชีวิตหลังความตายอีก

หากแต่การดำเนินชีวิตของผู้คนที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาตินั้น ก็เป็นอีกทางหนึ่งเช่นกันที่เข้ามาสนับสนุนความเชื่อในพระพุทธศาสนาในบางด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเห็นความเกิดดับของต้นไม้ใบหญ้า และสิงสาราสัตว์ที่ตนสัมผัสทุกเมื่อเชื่อวัน ออกลูกออกหลานแตกหน่อก่อผลสร้างชีวิตใหม่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านมองความตายเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นการสืบต่อแห่งชีวิตที่ไม่ได้ยุติเพียงเท่านี้ โดยไม่พยายามที่จะผืนกฎธรรมชาติแต่อย่างใด ต่อเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาจนไม่มีทางเยียวยารักษาได้ ชาวบ้านจึงยกให้เป็นเรื่องของกรรมของเวรไป

แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความหวังใดๆ อีก ชีวิตหลังความตายที่จะได้ไปเกิดในภพภูมิใหม่ที่ดีกว่าในปัจจุบันกระทั่งถึงพระนิพพาน ก็ยังเป็นที่วาดหวังของทุกคนเพื่อจะเดินทางไปถึงให้ได้ ไม่ภพใดก็ภพหนึ่งต่อๆ ไป และในจำนวนไม่น้อยก็ยังปรารถนาที่จะกลับมาเกิดอยู่กับลูกหลานอีกครั้ง

ด้วยเหตุดังนั้น ความตายในทัศนะของชาวบ้าน จึงเป็นการสืบต่อแห่งชีวิตที่ไม่ได้ยุติลงเพียงเท่านี้ หากแต่ยังมีชีวิตหลังความตายในภพภูมิใหม่ ส่วนใครจะไปเกิดในภพภูมิไหนเป็นอะไร ก็ขึ้นอยู่กับผลกรรมในปัจจุบันชาติของตน คือถ้าทำกรรมดีก็ไปสู่สุคติภูมิ คือสถานที่ที่ดีที่สัตว์โลกซึ่งทำกรรมดีตายแล้วไปเกิด อันได้แก่มนุษย์และเทพ ถ้าทำกรรมชั่วก็พาตัวไปสู่อบายภูมิ คือภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ อันได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จนทุกคนหวาดกลัว ไม่ต้องการไปเกิดในภพภูมินี้

ดังนั้น ในบั้นปลายชีวิตของผู้เฒ่าผู้แก่ในล้านนา (และภูมิภาคอื่น) จึงพากันเข้าวัดเข้าวามาทำบุญสุนทานรักษาศีลอยู่เป็นประจำ แต่สำหรับทางล้านนานั้น คนเฒ่าคนแก่ไม่เพียงแต่ทำบุญสุนทานรักษาศีลเท่านั้น หากยังเตรียมตัวตาย ด้วยการจัดหาผ้าข้าว ผ้าห่ม เสื้อผ้า ที่นอน หมอน มุ้ง ย่าม และเสื่อ เผื่อไว้ให้ลูกหลานทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตน จนในบางท้องที่ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ถึงกับเตรียมสมุดธรรมเทศนาไว้ เมื่อตายไปก็ให้ลูกหลานนำมาคาดไว้ที่หน้าอกหรือหน้าผาก เผาไปพร้อมกับร่างอันไร้วิญญาณ หรือไม่ก็นำไปทำบุญที่วัด เพื่อใช้ธรรมนำทางไปสู่สวรรค์ตามที่เชื่อกันต่อๆ มา

แต่ทว่าความเชื่อดังกล่าว ถ้าเราเปิดใจพิจารณาให้แยบคายก็จะเห็นได้ว่า การเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ นั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่เหลวไหลไร้สาระประการใด หากแต่เป็นอุบายอันแยบยล ที่ให้ตนระลึกถึงความตายที่จะมาเยือนไม่วันใดก็วันหนึ่งซึ่งยากที่จะรู้ได้ ขณะที่เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ไป ก็เท่ากับว่าได้เตือนตนให้ระลึกถึงความตาย ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และยังช่วยแบ่งเบาภาระลูกหลาน ไม่ให้ดิ้นรนเสาะหาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มาห่อร่างอันไร้วิญญาณและทำบุญให้เมื่อตายไปอีกด้วย

ความเชื่อของชาวล้านนา เรื่องการเตรียมข้าวของเผื่อไว้ให้ลูกหลานทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตน เป็นอุบายอันแยบยลเพื่อการระลึกถึงความตาย

แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนจะไม่กลัวตายก็ไม่ใช่ เป็นแต่ว่าเมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จะทำอย่างไรให้เผชิญกับความตายได้ดีกว่านี้เล่า หรือว่าเราจะหลีกหนีความตายด้วยการต่อสายโยงระยาง ทั้งๆ ที่ไร้ความหวังอย่างในปัจจุบันกระนั้นหรือ ดังนั้น การได้ตายในบ้านของตน ท่ามกลางคนที่ตนรักและญาติมิตร จึงเป็นสุดยอดปรารถนาของคนเฒ่าคนแก่และผู้ป่วยที่ไร้ความหวัง ส่วนลูกหลาน ญาติมิตร และเพื่อนบ้าน ก็ปฏิบัติต่อคนใกล้ตายด้วยความอาลัยรักอย่างสุดซึ้ง คนใกล้ตายปรารถนาสิ่งใดก็รีบสรรหามาให้ แต่ถ้าไม่ได้ก็บอกเหตุผลไปให้ปล่อยวางเสีย หรือบางทีคนใกล้ตายห่วงใยนั้นห่วงใยนี้ ลูกหลานและญาติพี่น้องก็พร้อมใจกันรับความห่วงใยของคนใกล้ตายไว้ ไม่ให้ห่วงกังวลใดๆ อีก

บรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยลูกหลาน ญาติมิตร และเพื่อนบ้านเช่นนี้ แม้ดูจะโศกเศร้า แต่ก็คลุกเคล้าไปด้วยความรักความอบอุ่นที่ทุกคนมีให้กับคนใกล้ตาย และมีให้แก่กันและกัน จนทำให้คนใกล้ตายปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างลงไปได้ และพร้อมที่จะเดินทางไกลแต่ผู้เดียว

หากแต่การปฏิบัติต่อคนใกล้ตายในครอบครัวและญาติมิตร ไม่เพียงทำให้คนใกล้ตายจากไปด้วยความสงบเท่านั้น ในด้านลูกหลาน ญาติมิตร และเพื่อนบ้าน ก็ได้เรียนรู้ความเจ็บไข้ และการปฏิบัติต่อคนใกล้ตายไปพร้อมๆ กัน และนำความตายมาเตือนตน ผ่านการเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เมื่อย่างเข้าปัจฉิมวัยอีกด้วย


ภาพประกอบ