นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา มีความพยายามในหมู่ชาวพุทธชั้นนำที่จะทำให้พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อเข้าได้กับสังคมสมัยใหม่ ผลตามมาก็คือพุทธศาสนาหลังจากนั้นมีแนวโน้มที่จะเน้นประโยชน์ในโลกนี้ อาทิ การมีทรัพย์ เกียรติ ยศ มีชีวิตที่เป็นสุข ไม่เดือดร้อนใจ เป็นที่รักใคร่ของมิตรสหาย ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือไปจากนั้นถูกลดความสำคัญลงจนเลือนหายไป ความเชื่อเกี่ยวกับโลกหน้าถูกหาว่าเป็นความงมงาย โลกุตตรธรรมหรือนิพพานก็กลายเป็นเรื่องไกลเกินกว่าที่จะสมควรใส่ใจ ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องแต่งเรื่องสมมติ ก็มีอยู่ไม่น้อย
การที่พุทธศาสนาสมัยใหม่เน้นประโยชน์ในโลกนี้ แม้จะมีเหตุมีผล ดูเป็น “วิทยาศาสตร์” แต่ก็ทำให้พุทธศาสนาขาดพลังและความโดดเด่นในฐานะที่เป็นระบบการดำเนินชีวิต ยิ่งเน้นแค่ระดับศีลธรรมด้วยแล้ว พุทธศาสนาก็แทบไม่ต่างจากศาสนาอื่น ถึงที่สุดแล้วแม้ไม่จำต้องนับถือพุทธศาสนาเลยก็ย่อมได้ เพราะมีระบบจริยธรรมแบบไม่ใช่ศาสนาเป็นอันมาก ที่สอนให้คนทำดีเหมือนกัน และสามารถดึงดูดผู้คนได้ไม่น้อย อาทิ ลัทธิมนุษยนิยมหรือคุณธรรมพลเมือง
พุทธศาสนาในอดีตยอมรับการมีอยู่ของโลกหน้า แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คน เพราะถึงแม้พุทธศาสนาไม่เข้ามา คนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่ามีโลกหน้าอยู่แล้ว พลังของพุทธศาสนาในอดีตอยู่ตรงที่สามารถเชื่อมโยงโลกนี้ให้เข้ากับโลกหน้าได้ การทำความดีในโลกนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขในชีวิตนี้เท่านั้น หากยังหมายถึงสุคติในโลกหน้าด้วย ด้วยเหตุนี้ความเชื่อในโลกหน้าจึงมีผลต่อการดำรงชีวิตและความประพฤติในโลกนี้ ชาวบ้านไม่กล้าทำบาปไม่ใช่เพียงเพราะกลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นในชีวิตนี้เท่านั้น หากยังวิตกถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับในชาติหน้าด้วย ดังนั้นถึงไม่มีใครเห็น ก็ไม่กล้าทำชั่วง่ายๆ
ปัญหาที่เกิดกับพุทธศาสนาในปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นเพราะผู้คนปฏิเสธโลกหน้า เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วคนไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่ปฏิเสธโลกหน้า ดังผลการสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาเมื่อปี ๒๕๓๙ ระบุว่านักศึกษาที่เชื่อว่าตายแล้วสูญมีเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น ขณะที่คนซึ่งมั่นใจว่าเกิดใหม่แน่นอนมีมากเป็น ๓ เท่า ปัญหานั้นอยู่ตรงที่โลกหน้ามีความสำคัญน้อยลง และมีไม่น้อยที่แยกโลกนี้ออกจากโลกหน้า ทัศนคติดังกล่าวทำให้ผู้คนสนใจแต่จะสร้างความสำเร็จในชีวิตนี้ด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ โดยไม่สนใจว่าการกระทำนั้นๆ จะก่อผลอย่างไรในชาติหน้า ชาวบ้านเป็นอันมากไม่รีรอที่จะตัดไม้ทำลายป่า หรือขโมยของวัดถ้ามีโอกาส ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อชาติหน้า แต่เป็นเพราะสนใจแต่ความสุขสบายในชาตินี้ยิ่งกว่าอะไรอื่น พร้อมกันนั้นก็ไม่ได้สำเหนียกว่าสิ่งที่ตนทำจะก่อผลอย่างไรในชาติหน้า
พลังของพุทธศาสนาในอดีตอยู่ตรงที่สามารถเชื่อมโยงโลกนี้ให้เข้ากับโลกหน้าได้ ด้วยเหตุนี้ความเชื่อในโลกหน้าจึงมีผลต่อการดำรงชีวิตและความประพฤติในโลกนี้
เมื่อแยกชาตินี้กับชาติหน้าออกจากกัน วิธีการสร้างความสำเร็จในชาตินี้กับวิธีการมุ่งผลในชาติหน้าก็เลยแยกจากกันด้วย ในด้านหนึ่งคนที่แสวงหาวัตถุมงคลเพราะหวังความร่ำรวยและผลได้ในปัจจุบัน ก็ไม่สนใจที่จะทำความดีรักษาศีลเพื่อผลในชาติหน้า ขณะเดียวกันการประกอบพิธีกรรมเพื่อผลในชาติหน้า (หรือภพอื่น) เช่น งานศพ หรือทำบุญสร้างพระ ก็แทบจะไม่สัมพันธ์หรือเกิดประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ต่างกับสมัยก่อน งานศพไม่ใช่เป็นแค่การทำบุญให้ผู้ตาย หรือการสร้างกรรมดีให้แก่ตนเองเท่านั้น หากยังก่อประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ เช่น เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในชุมชนให้แน่นแฟ้น โดยที่การทำบุญก็มักจะเป็นการทำประโยชน์แก่ชุมชนไปด้วยในตัว เช่นจัดหาเสื่อหมอนถ้วยชามมาให้แก่วัดเพื่อเป็นสมบัติกลาง ส่วนการทำบุญสมัยนี้ แทบจะไม่มีจุดมุ่งหมายในแง่นี้เลย แม้จะทำบุญให้วัด แต่ก็ไม่ได้ทำด้วยความตระหนักว่าเพื่อคนอื่นจะได้ใช้ประโยชน์ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการถวายให้วัดในฐานเป็นศาสนสถานมากกว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชน
ชาตินี้แยกไม่ออกจากชาติหน้า แม้เราจะจากโลกนี้ไป แต่เลือดเนื้อเชื้อไขของเราที่จะเกิดมาในอนาคต ก็คือตัวแทนของเราที่จะต้องรับผลพวงจากการกระทำของเราใน “ชาติหน้า” สายสัมพันธ์ดังกล่าวตัดไม่ขาดและปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรใส่ใจเพียงแค่ว่าชีวิตนี้จะร่ำรวยหรือมีอำนาจแค่ไหน หากควรคำนึงถึงอนาคตด้วยว่าการกระทำของเราจะก่อผลเพียงใด ไม่ใช่คนอื่นและสังคมส่วนรวมเท่านั้นที่จะต้องได้รับผลจากการกระทำดังกล่าว เราเองในที่สุดก็ต้องได้รับผลนั้นด้วยไม่ว่าจะปรากฏในรูปลักษณ์ใดก็ตามในวันข้างหน้า