“เมื่อความตายมาอยู่ตรงหน้า แทบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของคนอื่น ชื่อเสียง เกียรติยศ ความกลัวที่จะต้องอับอายขายหน้าหรือล้มเหลว จะหมดความหมายไปสิ้น เหลือไว้ก็แต่เพียงสิ่งที่มีคุณค่าความหมาย และความสำคัญที่แท้จริงเท่านั้น วิธีคิดเช่นนี้ยังเป็นวิธีคิดที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้คุณไม่ตกลงไปในกับดักความคิดที่ว่า คุณมีอะไรที่จะต้องสูญเสีย เพราะความจริงแล้วเราทุกคนล้วนมีแต่ตัวเปล่าๆ ด้วยกันทั้งนั้น” — สตีฟ จ๊อบส์
สตีฟ จ๊อบส์ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบของหนุ่มสาวยุคสมัยใหม่ แต่สตีฟ จ๊อบส์ก็พบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายแต่อย่างใดเลย เมื่อความตายมาเยือน น่าเสียดายกว่าที่ความตระหนักรู้ ความเข้าใจในชีวิตจากประโยคข้างต้น สตีฟ จ๊อบส์เข้าถึงได้เมื่อฑูตมรณะในรูปของโรคมะเร็งได้เข้าโจมตี แต่ก็ถือว่าช่วงที่โรคภัยรุมเร้า ท่ามกลางการรักษาตัวอย่างเข้มข้น สตีฟ จ๊อบส์ก็ยังได้พบความจริงในเรื่องนี้และมีเวลาเตรียมตัวอยู่บ้าง พวกเราหลายคนอาจโชคดีหรือโชคไม่ดีเท่าสตีฟ จ๊อบส์ก็ได้
โชคไม่ดี เพราะหลายคนที่พบความจริงในเรื่องนี้ บ่อยครั้งเรามักระลึกถึงยามที่สิ่งต่างๆ: ความสำเร็จ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน ตำแหน่ง หน้าที่ ฯลฯ และที่สำคัญ การมีชีวิต เรากำลังผ่านสิ่งเหล่านี้ กำลังสูญเสีย หรือเรากำลังลาจากสิ่งเหล่านี้ไป ซึ่งเมื่อระลึกขึ้นได้ก็สายเกินการณ์เสียแล้ว เพราะคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ก็มักไม่เห็นความสำคัญในเรื่องของการเตรียมพร้อมมากนัก คนที่กำลังพานพบก็มักมีเวลาเหลือน้อย สุขภาพทรุดโทรม สิ่งต่างๆ ไม่เอื้ออำนวยนัก โอกาสเตรียมพร้อมจึงมีน้อยมาก
โชคดี ตรงที่เรามีโอกาสเตรียมตัว เพราะเราสามารถให้ตนเองมีทางเลือกในการเผชิญหน้ากับความตาย โดยไม่ต้องรอคอยให้วาระสุดท้ายมาเยือนจนใกล้มาก กระทั่งไม่มีเวลาเตรียมพร้อม ทางเลือกคือ การเตรียมพร้อมรับความตายตั้งแต่วันนี้ ความตายมาถึงแน่นอน ข้อต่อรองมีเพียงว่ามาถึงเมื่อไรและมาถึงในรูปแบบใด เปรียบเหมือนปริศนาชีวิตที่มักเกิดอะไรขึ้นกับเราก็ได้ เราอาจพบโรคร้าย อุบัติเหตุร้ายแรง เราไม่สามารถเลือกเอาหรือไม่เอา ทางเลือกมีเพียงจะตอบรับสิ่งที่เข้ามาอย่างไร เตรียมพร้อมตนเองล่วงหน้าอย่างไร และเมื่อสิ่งเหล่านี้มาถึงจะตั้งรับด้วยวิธีการอย่างไร
กระนั้น เรื่องของการเตรียมพร้อมก่อนความตายมาเยือนจริง สิ่งที่มักเกิดในคนส่วนใหญ่คือ “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” เราจึงมักพบว่าหลายคนที่ไม่ทันได้เตรียมตัว โศกนาฎกรรมคือ ความทุกข์แสนสาหัสจากการพลัดพราก สูญเสีย
ข้อค้นพบจากเอลิซาเบธ คืบเบลอร์-รอสส์ (Elisabeth Kubler-Ross) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้าย กล่าวว่า ปฏิกิริยาที่มักเกิดขึ้นในผู้คนที่ความตายมาเยือน คือ ๑) โกรธ/ปฏิเสธ ความรู้สึกเชิงลบเกิดขึ้นมากมาย โกรธ เสียใจ ผิดหวัง ตกใจ ท่าทีปฏิเสธ ไม่ยอมรับ และรวมถึงการกล่าวโทษสิ่งต่างๆ รอบตัว ๒) ต่อรอง เป็นขั้นตอนที่คนไข้เริ่มยอมรับความจริงได้บางส่วน แต่ยังคงมีความหวังว่าน่าจะมีหนทางรักษา น่าจะมีความเข้าใจผิด น่าจะยังมีโอกาส ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อขอโอกาสอีกครั้ง ๓) ซึมเศร้า เมื่อพบว่าหนทางการต่อรองยากจะเกิดขึ้น ความเศร้าเสียใจคุกคาม มีความอาลัยอาวรณ์ จนเมื่อคนไข้เริ่มทำใจยอมรับได้ก็เข้าสู่ภาวะ ๔) ยอมรับ คนไข้เริ่มที่จะยอมรับความจริง และพร้อมตระเตรียมตัวเพื่อต้อนรับความตายได้มากขึ้น คนไข้เริ่มใส่ใจที่จะสะสางกิจสำคัญที่คั่งค้าง รวมถึงความสัมพันธ์ที่อยากแก้ไขเยียวยาเพื่อไม่ตกค้างให้เศร้าหมองจิตใจภายหลัง
“เมื่อความตายมาอยู่ตรงหน้า แทบทุกสิ่งจะหมดความหมายไปสิ้น เหลือไว้เพียงสิ่งสำคัญแท้จริงเท่านั้น”
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ปฏิเสธหรือไม่ใส่ใจความตาย เนื่องด้วยเราทุกคนมักมีความเชื่อพื้นฐานที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ว่า ๑) ความตายเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเรา แม้บางคนจะเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ๒) ความตายเกิดขึ้นได้กับทุกคน ยกเว้นตัวเรากับคนใกล้ชิด อย่างน้อยก็ยังอีกนาน
นี่คือภาวะประมาท หรือภาวะลืมตาย และจากตรงนี้การดำเนินชีวิตของพวกเราหลายคนจึงป็นลักษณะมุ่งแสวงหาความสุขใส่ตัวผ่านการบริโภค อุปโภค รวมถึงช่องทางที่เพิ่มพูนโอกาส ทรัพยากร และอำนาจมาไว้ในตัว เพื่อสามารถให้ตนเองมีฐานะร่ำรวย มูลเหตุสำคัญในการปฏิเสธความตายหรือการมีภาวะลืมตาย คือ การมีวัฒนธรรมเชิงลึก สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับระบบชนชั้น ชนชั้นที่แบ่งแยกด้วยระบบอาวุโสและระบบฐานะทางเศรษฐกิจ ยศตำแหน่ง สถานภาพ วัฒนธรรมเชิงลึกเช่นนี้เอื้ออำนวยโอกาสและผลประโยชน์ให้กับชนชั้นที่มีฐานะสูง โดยที่ความร่ำรวยเป็นโอกาสสำคัญของการเลื่อนฐานะชนชั้น ความร่ำรวยจึงเป็นกุญแจสำคัญในวัฒนธรรมเชิงลึกของสังคมไทย
วัฒนธรรมเชิงลึกที่ซ่อนอยู่คือ ความเชื่อบาปบุญ โดยเฉพาะบุญในความหมายของทุน หรือการลงทุนในโลกหน้า หรือในโอกาสของชีวิตนี้ กระแสความนิยมในเกจิอาจารย์หรือในสำนักต่างๆ มักเกิดขึ้นเนื่องจากการตอบโจทย์ความต้องการเรื่องความร่ำรวยได้ เช่น ผลบุญที่บันดาลลาภและโชคดีที่เกิดขึ้นในชีวิต ความร่ำรวยไม่เพียงช่วยเราได้เลื่อนสถานะชนชั้น แต่ยังช่วยให้เรามีโอกาสเข้าถึงคุณภาพการบริการสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บในระดับมีคุณภาพสูง ความเชื่อลึกๆ ต่อเรื่องความตายภายใต้การมีฐานะร่ำรวยคือ มันช่วยเรามีอำนาจต่อรองความตาย ให้ผัดผ่อน เนิ่นช้า หรือประวิงเวลาให้ความตายล่าช้าออกไปได้
ความร่ำรวยตอบโจทย์เรื่องการบริโภค ในฐานะเครื่องมือที่นำไปสู่การมีความสุข รวยมากก็สามารถเสพสุขได้มาก น่าเสียดายที่ความสุขเช่นนี้มีข้อจำกัด คือ การต้องไล่ล่าต่อเติมเชื้อความสุขผ่านการบริโภคให้มากขึ้นและมากขึ้น ความสุขที่แสวงหานี้คือ ความสุขแบบโลก โลกียธรรม จากการตอบสนองความสุข ความเพลิดเพลินของสิ่งเสพจากการกิน การดู การฟัง และการสัมผัส ผลกระทบจากการทุ่มเทเพื่อความสุขเช่นนี้คือ การหลงลืม การปฏิเสธความตาย ราคาที่ต้องจ่ายคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ขณะที่ความสุขอีกแบบคือ ความสุขในระดับเหนือโลก โลกุตรธรรม เป็นความสุขจากการได้เรียนรู้ ได้เข้าใจและเข้าถึงความจริง หัวใจและคุณค่าสำคัญของความสุขนี้คือ การปล่อยวาง
สตีฟ จ๊อบส์ คือตัวอย่างผู้เรียนรู้ที่จะปล่อยวางผ่านการยอมรับความจริง พวกเราสามารถเตรียมพร้อมรับก่อนความตายมาเยือน เพื่อไม่สายเกินการณ์และไม่ต้องโกรธเคือง ต่อรอง หรือซึมเศร้าโดยใช่เหตุในภายหลัง